Tuesday, April 6, 2010

Dissertation Topic-1st

ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด
A Strategic Intellectual Capital Model for Thai Enterprises
: A Study of Construction Accessories Co., Ltd.




โดย


นาย ดนัย เทียนพุฒ
รหัสนักศึกษา d47907903026
หลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจรุ่นที่ 2 กลุ่ม 2
ปีการศึกษา 2547
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
Create Date : 10 มกราคม 2549
************************************************
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

เศรษฐกิจแห่งความรู้ (Knowledge Based Economy) เป็นเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้ (Knowledge) และเทคโนโลยี (Technology) เป็นพลังขับเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีพลังอำนาจมากกว่าทรัพยากรใดๆ ในระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความได้เปรียบจากความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) (Stewart, 1997) ขณะเดียวกัน ทอลแมนและคณะ (Tallman and Others, 2004) ได้สรุปถึงมุมมองของความได้เปรียบในการแข่งขันที่เน้นทรัพยากรความรู้ว่า การสร้างคุณค่าทุนทางปัญญา (Intellectual Capital Value Creation) จะมีหัวใจหลักที่กำหนดระดับผลลัพธ์ของธุรกิจ เช่น การยอมรับในความสำคัญของความซับซ้อน (Recognition of the Importance of Complex) การมุ่งมั่นของธุรกิจ (Firm Commitment) ความรู้โดยปริยายและทรัพยากรความรู้ที่เฉพาะของธุรกิจ (Embeded Tacit and Firm Specific Knowledge Resources) สมรรถภาพและความสามารถ (Capabilities and Competencies) ที่จะทำให้เป็นความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (World Competitiveness) 
ปัจจุบันสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) หรือทุนทางปัญญา (Edvinsson and Malone, 1997) เป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับเศรษฐกิจแห่งความรู้ (Teece, 2000) ซึ่งจะเห็นว่าทุนทางปัญญาหรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มีมูลค่าต่อธุรกิจสูงมาก หากพิจารณาเปรียบเทียบโดยดูได้จากมูลค่าตลาด (Market Value)
สวีบาย (1997) ได้วิเคราะห์และสรุปผลสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้กับมูลค่าตลาด ของบริษัทในปี 1995 ไว้ว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (High Technologies) เช่น ไมโครซอฟท์ อินเทล จีเนนเทค และธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดต่ำ ขณะที่ธุรกิจสื่อ เช่น รอยเตอร์ ธุรกิจจัดการความสูญเสีย เช่น เคนโทกิล ธุรกิจด้านคอนซูเมอร์ เช่น โคคา-โคลา, ยูนิลีเวอร์ ฮิวโก-บอสส์, อาร์นอทส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดสูง ส่วนธุรกิจเวชภัณฑ์ยา เช่น แอสตรา แกล็คโซสมิทช์ไคน์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้สูงมากกว่าธุรกิจด้านบริการ เช่น วอลมาร์ท แมคโดนัลด์ ธนาคารและบริการทางการเงิน เช่น ซิตี้คอร์ป เอเม็ก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ทรัพยากรพลังงาน มีมูลค่าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ใกล้กับมูลค่าตลาด และโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์มีสัดส่วนที่ต่ำในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาด
ในการกำหนดองค์ประกอบของทุนทางปัญญาโดยเฉพาะที่ เอ็ดวินส์สิน (1997) บุกเบิกขึ้นให้ กับสแกนเดีย เอเอฟเอส (Skandia AFS) ในปี 2537 ซึ่งเรียกว่า สแกนเดีย เนวิเกเตอร์ (Skandia Navigator) ถือเป็นตัวแบบทั่วไป (General Model) ซึ่งเป็นตัวแบบที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรกและมักจะนิยมอ้างถึงโดยประกอบด้วยองค์ประกอบของ ขอบเขตลูกค้า (Client Scope) ขอบเขตการเงิน (Financial Scope) ขอบเขตด้านคน (Human Scope) ขอบเขตกระบวนการ (Process Scope) และขอบเขตการปรับใหม่ (Renewal Scope) ส่วนตัวแบบที่พัฒนาต่อมาเป็น ตัวแบบเชิงสัมพันธ์ (Related Model) เป็นลักษณะทั้งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ตัวแบบของบริษัทดาวเคมีคอล (Dow Chemical Model, 1994) จะมีองค์ประกอบของทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนองค์กร (Organizational Capital) และทุนลูกค้า (Client Capital)
ซัลลิแวน (1995) สจ๊วต (1997) รูส์ (1998) และอีกหลายๆ ท่านสรุปว่า มีการอธิบายและการนำไปใช้ของแต่ละประเทศ ที่แตกต่างกันในองค์ประกอบของทุนทางปัญญา พาบลอส (2004) มีการศึกษาในช่วงปี 2537-2546 จาก 20 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมัน อินเดีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร พบว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจในการพัฒนาบรรทัดฐานที่จะให้ได้สารสนเทศที่เป็นแนวทางในการจัดการ และการวัดทุนทางปัญญา โดยสารสนเทศนี้ต้องมีความเป็นเอกพันธ์ (Homogeneous) และเปรียบเทียบกันได้ (Comparable) 
แต่ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมแบบไทย ไพบูลย์ ช่างเรียน (2532) อธิบายวัฒนธรรมกับการบริหารของไทยว่ามีลักษณะเฉพาะได้แก่ การยึดถือตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นการรวมกันอยู่โดยไม่มีผลประโยชน์ที่กำหนดไว้แน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่การบริหารได้ขยายตัวสลับซับซ้อนมากขึ้น แต่การรวมกลุ่มกันในรูปแบบเป็นการเฉพาะบุคคล แบบระบบวงศาคณาญาติ หรือตามลักษณะโครงสร้างของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองแบบเดิมก็ยังมีอิทธิพลอยู่
โครงสร้างการบริหารของไทยจึงมีลักษณะของการยึดตัวบุคคลเป็นหลัก ในขณะเดียว
กันก็มีลักษณะของการรวมอำนาจเข้าหาตัวบุคคลอีกด้วย ดังนั้นเทคนิคหรือหลักเกณฑ์การบริหารต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาในวัฒนธรรมหนึ่งหรือสังคมหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมกับอีกสังคมหนึ่งก็ได้ หรือเมื่อนำหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ มาใช้แล้ว ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ทั่วไปในสังคม
ตัวแบบทุนทางปัญญาที่ผู้วิจัยได้ศึกษาทั้งตัวแบบทั่วไปและตัวแบบเชิงสัมพันธ์ รวม-ถึงการวิจัยในหลายๆ ประเทศ พบว่ามีองค์ประกอบอยู่หลายๆ องค์ประกอบ และยังรวมถึงองค์ประกอบ เช่น การวิจัยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา ทุนมนุษย์ โครงสร้างองค์กร วิธีการทำงาน การตลาด แบรนด์ ลูกค้า และเครือข่ายซัพพลายเออร์ รวมทั้งซอฟท์แวร์ (Stewart, 2001; Sullivan, 2000; Edvinsson, 2002; Bontis, 1996) จึงทำให้มีความสับสน ยุ่งยากในการนิยาม การจัดการ และการเก็บสารสนเทศที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก การวัดมูลค่าซึ่งเป็นการคำนวณทางการเงินหรือทางบัญชี การรายงานจึงผิดพลาดและไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ
ตัวแบบทุนทางปัญญาของนักคิดทางตะวันตก เมื่อจะนำมาปรับใช้ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีความเฉพาะของวัฒนธรรมการบริหารแบบองค์กรธุรกิจไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ขององค์ประกอบทุนทางปัญญาที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมบริหารของธุรกิจไทย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเป็นไปได้ในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ ผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาโดยศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างจำกัด ซึ่งเป็นลักษณะศึกษาเชิงประจักษ์เพื่อวิจัยปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่เป็นบริบทของสภาพธุรกิจที่แท้จริง (Yin, 1994)

คำถามในการวิจัย

1. ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาจะมีตัวแบบเป็นอย่างไรจึงจะนำไปสู่การปฏิบัติของบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด จนประสบความสำเร็จ 
2. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors : KSFs) หรือความสามารถ (Competence) อะไรที่จะมีในองค์ประกอบของตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด 
3. ดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จในปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถ อะไรที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับ บริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด 

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. สร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่จะใช้อธิบายความได้เปรียบในยุทธศาสตร์การแข่งขันที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย
2. พัฒนาปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถที่เป็นองค์ประกอบหลักในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาโดยมีดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จที่ครอบคลุมเพียงพอ
3. กำหนดวิธีการนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่สร้างและพัฒนาขึ้นไปสู่การปฏิบัติจนกระทั่งพัฒนาธุรกิจไทยให้เป็นองค์กรแห่งความรู้ (Knowledge Organization)

ประโยชน์ของการศึกษา

1. เป็นการพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของธุรกิจไทยในบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด ให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 
2. ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ทุนทางปัญญานี้จะมีองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแห่งความ-สำเร็จ หรือความสามารถพร้อมดัชนีวัดความสำเร็จที่จะช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนความได้เปรียบในการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด
3. สามารถนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาไปพัฒนาต่อยอดความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อธุรกิจไทยที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การก้าวเป็นองค์กรแห่งความรู้ 
4. ผู้ที่ศึกษาและนักปฏิบัติด้านการบริหารทุนมนุษย์หรือบริหารทรัพยากรบุคคล สามารถนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและสร้างความชัดเจนในองค์การเกี่ยวกับองค์ความรู้ในด้านทุนทางปัญญา

อ้างอิง

ดนัย เทียนพุฒ (2546) ความสามารถปัจจัยชนะของธุรกิจและคน กรุงเทพ: โครงการ HUMAN      
                         CAPITAL บริษัท ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด

นิทัศน์ วิเทศ (2542) การจัดการความรู้ แปลและเรียบเรียงจาก Working Knowledge : How Organi-
                        zations Manage What They Know ของโทมัส เอช ดาเวนพอร์ท และลอเรนซ์ พรู 
                        แซค กรุงเทพ: บริษัท เออาร์ บิซิเนส เพรส จำกัด 

Ahmed, Pervaiz K, Kok, Lim Kwang and Loh, Ann Y E. (2002) Learning Through Knowledge   
                       Management. Butterworth-Heinemann : MA.

Awad, Elias, M. and Ghaziri, Hassan, M. (2004) Knowledge Management. New Jersey : 
                       Pearson Education, Inc.

Barnes, Stuart. (2002) Knowledge Management Systems. Oxford : Thomson Learning

Bell, House (2001). Measuring and Managing Knowledge Singapore : McGraw-Hill Book Co.

Bergeron, Bryan (2003). Essentials of Knowledge Management. New Jersey : John Wiley &  
                       Sons, Inc.

Chong and Others (2000). “Where does Knowledge Management add value?” Journal
                       of Intellectual Capital Vol.1 No.4 P.366-380

Despres, Charles and Chauvel, Daniele. (2000) Knowledge Horizons. MA :
                       Butterworth-Heinemann 

Gorelick, Carol, Milton, Nick and April, Kurt. (2004) Performance Through Learning. 
                       MA: Elsevier Butterworth-Heinemann.

Groff, Todd R. and Jones, Thomas P. (2003). Introduction to Knowledge Management. 
                      Thailand : Butterworth-Heinemaan.

Laszlo, Kathia, Castro and Laszlo, Alexander. (2002). “Evolving Knowledge for Development            
                      : The role of knowledge management in a changing world” Journal of  
                      Knowledge Management Vol.6 No.4 2002 P.400-412

Liebowitz, Jay (2001) Knowledge Management : Florida. CRC Press LLC 

Mayo, Andrew. (2001) The Human Value of the Enterprise. London: Nicholas Brealey   
                      Publishing.

Morey, Dary, Maybury, Mark and Thuraisingham, Bhavani. (2000). Knowledge Management.  
                     London : The MIT Press.

Mertins,Kai, Heisiz, Peter and Vorbeck, Jens. (2003) Knowledge Management : Berlin 
                    Springer-Verlag .

Natarazan Ganesh, and Shekhar Sandhya, (2000). Knowledge Management New Delhi: Tata   
                    McGraw-Hill Publishing Company Limited.

Nonaka, Ikujiro and Takeuchi, Hirotaka. (1995). The Knowledge-Creating Company. New  
                   York : Oxford University Press, Inc.

Parlby, David (1999). Knowledge Management Research Report 2000. UK :KPMG Consulting. 
                   School, Wolfgand and Others. (2004) “The Future of Knowledge Management :  
                   an International Delphi study.” Journal of Knowledge Management Vol.8 No.2  
                   P.19-35

Takeuchi, Hirotaka, and Nonaka Ikujiro,(2004). Hitotsubashi on Knowledge Management 
                   Singapore: John Wiley & Sons (Asia) Pte. Ltd.

Tiwana, Amrit (2001). The Essential Guide to Knowledge Management. NJ: Prentice Hall 
                   PTR.

Wiig, Karl. M. (1999). “Successful Knowledge Management : Does it Exist?” The European  
                  American Business Journal.

Yin, R.K. (1994). Case Study Research: Design and Methods (2nd ed.) Thousand Oaks, CA : 
                  Sage.
(หน้า Blog ไม่ยอมให้จัดเป็นไปตามหลักเกณฑ์)



No comments:

Post a Comment