Tuesday, April 6, 2010

รายงานวิจัยเรื่องตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา-วิธีการวิจัย

วิธีดำเนินการวิจัย






วิธีดำเนินการศึกษา


ได้สร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย โดยการนำวิสัยทัศน์ ภารกิจที่แปลไปสู่ยุทธศาสตร์ตามตัวแบบยุทธศาสตร์ (Strategy Model) ของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง มาสังเคราะห์ตามแนวทางของเฮง (Heng, 2001) ซึ่งเป็นเครื่องมือการจับคู่จากมาตรฐาน ISO 9000 กับตัวแบบทุนทางปัญญา เพื่อกำหนดรูปแบบเพื่อการทำนาย (Predicted Pattern)


การเก็บรวบรวมข้อมูลกรณีศึกษา 
เป็นการสร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทยในลักษณะรูปแบบเชิงประจักษ์ (Empirically Based Pattern) โดยการออกแบบโปรโตคอล (Protocol) ที่ช่วยสร้างวิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูลและใช้ความเป็นไตรวิธีการ (Triangulation) ในการเก็บข้อมูลซึ่งประกอบด้วย การสัมภาษณ์แบบเปิดกับการดำเนินงานของบริษัทฯ จากบุคคลที่เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน 26 คน แบบสอบถามเกี่ยวกับองค์ประกอบของทุนทางปัญญาจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 17 คนโดยมีข้อคำถาม 2 ส่วน โดยส่วนแรกเกี่ยวกับองค์ประกอบของทุนทางปัญญาใน 3 องค์ประกอบคือ ทุนมนุษย์ ทุนความสัมพันธ์ และทุนโครงสร้าง ในแบบมาตราประมาณค่า 5 ตัวเลือก จำนวน 53 ข้อคำถาม และส่วนที่สองเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญในอุตสาห-กรรม แบบมาตราประมาณค่า 10 ตัวเลือก จำนวน 12 ข้อคำถาม ส่วนการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาของแบบสอบถามใช้การตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่านและทดลองใช้ (Try Out) กับหัวหน้าแผนกผลิตและที่ปรึกษาหัวหน้าแผนกผลิตของกรณี (Case) และระดับบริหารอีก 6 คนเป็นผู้ตรวจ-สอบข้อมูลในภายหลัง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีค่าความเชื่อถือได้ของแบบสอบถามส่วนแรกเท่ากับ 0.804 ส่วนที่สองเท่ากับ 0.905
การสำรวจความต้องการของลูกค้าหรือผู้แทนจำหน่าย (จำนวน 17 ราย) โดยผู้วิจัยดำเนินการร่วมกับฝ่ายบริหารของบริษัทฯ การสังเกตแบบมีส่วนร่วมกับบริษัททั้งการดำเนิน-งานและกิจกรรมต่างๆ ในช่วงการวิจัย การศึกษาเอกสารบริษัท เช่น เอกสารคู่มือคุณภาพ คู่มือผลิตภัณฑ์ คำบรรยายลักษณะงาน โครงสร้างและหน้าที่ความรับผิดชอบ รายงานผลประกอบการบริษัท รวมถึงการยืนยันข้อมูลในกรณีที่มีข้อสงสัยหรือประเด็นที่ต้องการความชัดเจนกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญในระดับบริหารที่รับผิดชอบ


การวิเคราะห์กรณีศึกษา
ผู้วิจัยใช้เทคนิคการวิเคราะห์กรณีศึกษาที่เรียกว่า การเปรียบเทียบรูปแบบ (Pattern Matching) โดยการนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่เป็นรูปแบบเพื่อการทำนาย (Predicted Pattern) กับรูปแบบเชิงประจักษ์ (Empirically Based Pattern) มาเปรียบเทียบระหว่างองค์ประกอบที่เป็นองค์ประกอบหลักในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา สังเคราะห์ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่มีลักษณะร่วมกัน ผลจากการสังเคราะห์ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาได้องค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบคือ 1) ทุนภาวะผู้นำ 2) ทุนความสัมพันธ์ 3) ทุนกระบวนการ 4) ทุนองค์การ และ 5) ทุนทรัพยากรบุคคล แล้วทำการวิเคราะห์ข้ามกรณีศึกษา (Cross-Case Analysis) เพื่อเป็นการยืนยันการวิเคราะห์ (Verification) ระหว่างตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย กับการวัดทุนทางปัญญาสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย : 10 กรณี-ศึกษา โดยสังเคราะห์หาลักษณะร่วมขององค์ประกอบหลักและองค์ประกอบย่อยในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย ได้องค์ประกอบหลัก 4 องค์ประกอบคือ 1) ทุนภาวะผู้นำ 2) ทุนความสัมพันธ์ 3) ทุนองค์การ และ 4) ทุนทรัพยากรบุคคล สุดท้ายทำการสังเคราะห์โดยวิธีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของดัชนีบ่งชี้ (Meta-Indicators Analysis) จากดัชนีบ่งชี้ (Indicators) หรือดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indictors: KPIs) ของสแกนเดีย เนวิเกเตอร์ กับดัชนีวัดผลสำเร็จ (KPIs) ตามภารกิจของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ใน 4 ลักษณะคือ 1) ความเกี่ยวข้อง (Relevant) 2) การย่อสรุป (Precise) 3) ไม่มีขนาด (Dimensionless) (ความชัดเจนในขอบเขต) และ 4) ง่ายต่อการวัด (Easy to Measure)

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
Create Date : 21 สิงหาคม 2549

No comments:

Post a Comment