Tuesday, April 6, 2010

รายงานวิจัยเรื่องตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา

จุดประกายแห่งการวิจัย

ความคิดในการวิจัยของผู้วิจัยเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกในปี พ.ศ.2547 เมื่อเข้ามาศึกษาในหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยมีกรอบความคิดในเรื่องของ ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) เป็นกรอบทางความคิด (Conceptual Framework) และเมื่อทำการศึกษามากขึ้นจากหนังสือ บทความและงานวิจัยทางด้านทุนทางปัญญาและการจัดการความรู้ (Intellectual Capital and Knowledge Management) พบประกายแห่งเส้นสายสู่การวิจัยในเรื่องทุนทางปัญญาที่เจิดจ้ามากยิ่งขึ้น (Stewart, 1991; Edvinsson and Malone, 1997; Edvinsson, 2002; Sullivan, 2000; Sveiby, 1997)
ในปัจจุบันสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) หรือทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) (Edvinsson and Malone, 1997) เป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับเศรษฐกิจแห่งความรู้ ซึ่งจะเห็นว่าทุนทางปัญญาหรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มีมูลค่าต่อธุรกิจสูงมาก หากพิจารณาเปรียบเทียบโดยดูได้จากมูลค่าตลาด (Market Value) (Teece, 2000)
สวีบาย (Sveiby, 1997) ได้วิเคราะห์และสรุปผลระหว่างสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้กับมูลค่าตลาดของบริษัทในปี 2538 ไว้ว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (High Technologies) เช่น ไมโครซอฟท์ อินเทล จีเนนเทค และธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดต่ำ ขณะที่ธุรกิจสื่อ เช่น รอยเตอร์ ธุรกิจจัดการความสูญเสีย เช่น เคนโทกิล ธุรกิจด้านคอนซูเมอร์ เช่น โคคา-โคลา ยูนิลีเวอร์ ฮิวโก-บอสส์ อาร์นอทส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดสูง ส่วนธุรกิจเวชภัณฑ์ยา เช่น แอส-ตรา แกล็คโซสมิทช์ไคน์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้สูงมากกว่าธุรกิจด้านบริการ เช่น วอลมาร์ท แมคโดนัลด์ ธนาคารและบริการทางการเงิน เช่น ซิตี้คอร์ป เอเม็ก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ทรัพยากรพลังงาน มีมูลค่าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ใกล้กับมูลค่าตลาด และโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์มีสัดส่วนที่ต่ำในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาด
ในการกำหนดองค์ประกอบของทุนทางปัญญาโดยเฉพาะที่ เอ็ดวินส์สัน (Edvinsson, 1997) บุกเบิกให้ กับสแกนเดีย เอเอฟเอส (Skandia AFS) ในปี 2537 โดยเรียกว่า สแกนเดีย เนวิเกเตอร์ (Skandia Navigator) ถือเป็นตัวแบบทั่วไป (General Model) ที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรก และมักจะนิยมอ้างถึงซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบของขอบเขตด้านลูกค้า (Client Scope) ขอบเขตด้านการเงิน (Financial Scope) ขอบเขตด้านคน (Human Scope) ขอบเขตด้านกระบวนการ (Process Scope) และขอบเขตการปรับใหม่ (Renewal Scope) ส่วนตัวแบบที่พัฒนาต่อมาเป็น ตัวแบบที่เกี่ยวข้อง (Related Model) เป็นลักษณะทั้งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ตัวแบบของบริษัทดาวเคมีคอล (Dow Chemical Model, 1994) จะมีองค์ประกอบของทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนองค์การ (Organizational Capital) และทุนลูกค้า (Client Capital)

การอธิบายและการนำไปใช้ของแต่ละประเทศ ซัลลิแวน (Sullivan, 1995) สจ๊วต (Stewart, 1997) รูส์ (Roos, 1998) และอีกหลายๆ ท่านสรุปว่า มีความแตกต่างกันในองค์ประกอบของทุนทางปัญญา พาบลอส (Pablos, 2004) มีการศึกษาในช่วงปี 2537-2546 จาก 20 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมัน อินเดีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร พบว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจในการพัฒนาบรรทัดฐานที่จะให้ได้สารสนเทศที่เป็นแนวทางในการจัดการ และการวัดทุนทางปัญญา โดยสารสนเทศนี้ต้องมีความเป็นเอกพันธ์ (Homogeneous) และเปรียบเทียบกันได้ (Comparable)
แต่ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมแบบไทย ไพบูลย์ ช่างเรียน (2548) อธิบายวัฒนธรรมกับการบริหารของไทยว่ามีลักษณะเฉพาะได้แก่ การยึดถือตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นการรวมกันอยู่โดยไม่มีผลประโยชน์ที่กำหนดไว้แน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่การบริหารได้ขยายตัวสลับซับซ้อนมากขึ้น แต่การรวมกลุ่มกันในรูปแบบเป็นการเฉพาะบุคคล แบบระบบวงศาคณาญาติ หรือตามลักษณะโครงสร้างของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองแบบเดิมยังมีอิทธิพลอยู่ และโครงสร้างการบริหารของไทยมีลักษณะของการยึดตัวบุคคลเป็นหลัก ในขณะเดียวกันมีลักษณะของการรวมอำนาจเข้าหาตัวบุคคลอีกด้วย ดังนั้นเทคนิคหรือหลักเกณฑ์การบริหารต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาในวัฒนธรรมหนึ่งหรือสังคมหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมกับอีกสังคมหนึ่งก็ได้ หรือเมื่อนำหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ มาใช้แล้ว อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ทั่วไปในสังคม ฮอฟสเตด (Hofstede, 1980; 2005) ทำการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาติ (National Cultures) พบว่าจะมีมิติทางวัฒนธรรมอยู่ 5 มิติคือ 1) ความเป็นปัจเจกบุคคล กับการรวมกลุ่ม (Individualism and Collectivism) 2) ระยะของอำนาจ (Power Distance) 3) การหลีกหนีความไม่แน่นอน (Uncertainly Avoidance) 4) ความเป็นบุรุษกับสตรี (Masculinity and Femininity) และ 5) การมุ่งเน้นระยะสั้นกับระยะยาว (Long-and Short-Term Orientation) และสรุปว่าประเทศที่แตกต่างกันจะมีสถาบันที่แตกต่างกัน เช่น รัฐบาล กฎหมาย สมาคม ธุรกิจ ระบบโรงเรียนและโครงสร้างครอบครัว การทำความเข้าใจสถาบันต้องเข้าใจวัฒนธรรมและเข้าใจสมมติฐานทางวัฒนธรรมภายในของสถาบัน ผลต่อเนื่องที่สำคัญของสิ่งนี้คือ เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีของคนในประเทศ ทั้งด้านความคิด ความรู้สึกและการกระทำโดยนำเข้าสถาบันจากต่างประเทศ (Hofstede, 2005)
ฉะนั้นตัวแบบทุนทางปัญญาที่ผู้วิจัยได้ศึกษาทั้งตัวแบบทั่วไปและตัวแบบที่เกี่ยว-ข้อง รวมถึงการวิจัยในหลายๆ ประเทศ พบว่ามีองค์ประกอบอยู่หลายๆ องค์ประกอบ และยังรวมถึงองค์ประกอบ เช่น การวิจัยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา ทุนมนุษย์ โครงสร้างองค์การ วิธีการทำงาน การตลาด ตราสินค้า ลูกค้า และเครือข่ายซัพพลายเออร์ รวมทั้งซอฟท์แวร์ (Stewart, 2001; Sullivan, 2000; Edvinsson, 2002; Bontis, 1996) จึงทำให้มีความสับสน ยุ่งยากในการนิยาม การจัดการ และการเก็บสารสนเทศที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก การวัดมูลค่าซึ่งเป็นการคำนวณทางการเงินหรือทางบัญชี การรายงานจึงผิดพลาดและไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ

ตัวแบบทุนทางปัญญาของนักคิดทางตะวันตก เมื่อจะนำมาปรับใช้ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีความเฉพาะของวัฒนธรรมการบริหารแบบองค์การธุรกิจไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ขององค์ประกอบทุนทางปัญญาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาความเป็นไปได้ในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องกับมุมมองด้านคุณค่าของวัฒนธรรมในองค์การสำหรับองค์การที่มีประสิทธิภาพหรือมีการจัดการให้มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งไม่สามารถนำทฤษฎีการจัดการทั้งหมดจากต่างประเทศนำไปสู่การปฏิบัติ (Komin, 1991) ผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทยโดยศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นลักษณะการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research) เพื่อวิจัยปรากฏการณ์ร่วมสมัยในบริบทของสภาพธุรกิจที่แท้จริง (Yin, 1994)

คำถามที่ผู้วิจัยสนใจ

การศึกษาในเรื่อง ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง (A Strategic Intellectual Capital Model for Thai Enterprises: A Study of Construction Accessories Company)

มีคำถามที่ผู้วิจัยสนใจโดยผู้วิจัยมีคำถามหลักในการวิจัยว่า
ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาจะมีตัวแบบ (Model) เป็นอย่างไรจึงจะนำไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับการบริหารของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง

โดยมีคำถามย่อยจากคำถามหลักในการวิจัยว่า
1) ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors : KSFs) หรือความสามารถ(Competencies) อะไรที่จะมีในองค์ประกอบของตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่สอดคล้องสำหรับบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง
2)ดัชนีบ่งชี้ (Indicators) ในปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถอะไรที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสำหรับ บริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

ผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ดังนี้
1)สร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ที่จะใช้อธิบายความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย

2) พัฒนาปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถ ที่มีดัชนีบ่งชี้ปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถที่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับองค์ประกอบหลักในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา

3) นำเสนอวิธีการหรือแนวทางนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่สร้างและพัฒนาขึ้นไปสู่การปฏิบัติจนกระทั่งมีแนวทางการพัฒนาธุรกิจไทยให้เป็นองค์การที่จัด
การความรู้ (Knowledge Management Organization)

ขอบเขตของการศึกษา

ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการวิจัยไว้ 3 ขอบเขตด้วยกันคือ 1. ขอบเขตเนื้อหา 2. ขอบเขตผู้ให้ข้อมูล และ 3. ขอบเขตระยะเวลา โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ขอบเขตเนื้อหา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study)เพื่อสร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่จะใช้อธิบายความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย พร้อมปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถที่มีดัชนีบ่งชี้ที่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับองค์ประกอบหลักในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา

2. ขอบเขตผู้ให้ข้อมูล ผู้วิจัยได้กำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาไว้ดังนี้
1)ประชากรในการวิจัย
การวิจัยเชิงกรณีศึกษาครั้งนี้ มีประชากรเป็นธุรกิจไทยที่ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องยางปูพื้น (PVC Vinyl Tiles) ขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ซึ่งภายใต้บริบทและวัฒนธรรมการบริหารแบบไทย อุตสาหกรรมอื่นคงไม่แตกต่างกันมากนัก
2)กลุ่มตัวอย่างของการวิจัย ผู้วิจัยได้เลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเลือกบริษัท
ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ที่มีลักษณะตามเกณฑ์ดังนี้
(1) เป็นบริษัทผู้นำตลาดหรือมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในตลาดด้านผลิตภัณฑ์กระเบื้องยางปูพื้น
(2) เป็นบริษัทที่สามารถดำเนินกิจการมาตั้งแต่เริ่มแรกและสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
(3) เป็นบริษัทที่ผู้วิจัยสามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน (Intervening Variable) และลดความคลาดเคลื่อนได้ เช่น ความร่วมมือและความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูล ความจริงจังในการตอบแบบสอบถามและการให้สัมภาษณ์ เป็นต้น
(4) เป็นบริษัทที่มีผู้ใฝ่รู้ต้องการหาคำตอบอย่างจริงจังที่สามารถทำได้ตามสภาพที่แท้จริง และนำระบบควบคุมคุณภาพ เช่น ISO 9001:2000 มาใช้ผลักดันทิศทางองค์การ พร้อมทั้งจัดทำระบบวัดผลกลยุทธ์ด้วยดัชนีวัดผลสำเร็จ (KPIs)

3) ผู้ให้ข้อมูล กรณีศึกษาในการวิจัยครั้งนี้คือ บริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างซึ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อ 6 มิถุนายน 2511 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีพนักงาน 309 คน กำลังการผลิตรวม 5 ล้านตารางเมตรต่อปี และมีคุณกนิษฐ์ สารสิน ทำหน้าที่ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป
ผู้ให้ข้อมูลในกรณีศึกษาจะเรียกว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) (Yin, 1984, 2003) ซึ่งเป็นบุคคลระดับบริหาร ประกอบด้วย ผู้จัดการทั่วไปและผู้จัดการฝ่าย รวม 6 คน และบุคคลที่เป็นระดับหัวหน้าแผนก จำนวน 20 คน รวมเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวนทั้งสิ้น 26 คน

3. ขอบเขตระยะเวลา การวิจัยในครั้งนี้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2549 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน 19 วัน

ข้อจำกัดของการวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research) โดยวิธีการที่เรียกว่า กรณีศึกษาเชิงอธิบาย (Explanatory Case Study) ซึ่งในการออกแบบการวิจัยได้จัดทำในลักษณะของ “ความเป็นไตรวิธีการ” (Triangulation) (Yin, 1984) แต่กรณี (Case) คือบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ดำเนินกิจการมา 37 ปี ทำให้การศึกษาสืบค้น (Inquiry) ในช่วงก่อตั้งกิจการจำเป็นต้องศึกษาเพียงตามข้อมูลเท่าที่ปรากฏเชิงประจักษ์ (Empirical Data)

ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์หรืออ้างอิงทั่วไป (Generali-zation) ไปยังกลุ่มประชากรอื่นๆ หากบริษัทอื่นต้องการนำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา จำเป็นต้องคำนึงถึงความแตกต่างในบริบทของบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง กับบริษัทที่จะใช้ผลด้วย

จุดยืนด้านจริยธรรมในการวิจัย

จริยธรรมในการวิจัย (Ethical Research) หรือจุดยืนด้านจริยธรรม (Ethical Standpoint) เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องให้ความตระหนักถึงอย่างยิ่งใหญ่มากโดยเฉพาะในการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
ในการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research) เป็นวิธีการหนึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยให้สัตยาบันในการทำการศึกษาครั้งนี้

1. การไม่เปิดเผย การลดความเสี่ยงหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) หรือสิ่งที่สาธารณชนและวงการวิชาการไม่มีสิทธิที่จะรู้สำหรับการศึกษาในครั้งนี้

2. การลดอคติและความรู้สึกส่วนบุคคลให้มากที่สุดของผู้วิจัยในการเก็บรวบรวมข้อมูล การแปลความและการสรุปข้อค้นพบจากการศึกษา

3. จะมีการธำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ในข้อมูลที่ศึกษาในทุกๆ ด้านเกี่ยวกับเรื่องที่
ศึกษาทั้งหมด

คำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้มีคำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัยดังนี้

1. สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) หมายถึง สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบทางกายภาพ เช่น การวิจัยและพัฒนา การโฆษณา ตราสินค้า สิทธิบัตร ความสามารถเฉพาะบุคคล แต่สามารถสร้างสิ่งที่มีคุณค่ากับบริษัท ซึ่งบริษัทไม่อาจจะควบคุมได้ทั้งหมด
2. ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital : IC) หมายถึง ความรู้ที่ปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) ให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นี้เป็นผลรวมของสิ่งต่อไปนี้ ซึ่งเรียกว่าองค์ประกอบของทุนทางปัญญาคือ
1) ทุนมนุษย์ (Human Capital) หมายถึง ความเชี่ยวชาญเฉพาะ การริเริ่ม และการเรียนรู้และจัดการความรู้ให้เพิ่มขึ้น
2) ทุนความสัมพันธ์ (Relational Capital) หมายถึง ความสัมพันธ์กับลูกค้า ผู้ร่วมค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
3) ทุนโครงสร้าง (Structural Capital) หมายถึง สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ตราสินค้า ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้า ระเบียบวิธี ซอฟท์แวร์ เอกสารและรูปแบบอื่นๆ ที่อยู่กับองค์การ

3. ความสามารถ (Competency) หมายถึง สิ่งที่บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญ ความเก่ง เช่น เทคโนโลยี การริเริ่มสิ่งใหม่หรือการบูรณาการทั้งเทคโนโลยีและการริเริ่มสิ่งใหม่ จนทำให้เกิดเป็นความแตกต่างจากคู่แข่งขันจนกระทั่งคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้ รวมถึงสิ่งที่บุคคลภายนอกรับรู้ว่าเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความสำเร็จของธุรกิจ

4. ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา (Strategic Intellectual Capital Model : SICM)
ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา (Strategic Intellectual Capital Model : SICM) หมายถึง ตัวแบบการสร้างตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาตามแนวคิดเชิงตรรก (Logical Model) ที่มีตรรกภายในตัวแบบดังนี้

ตัวแบบ (Model) เป็นการบรรยายหรือกำหนดสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับทำความเข้าใจว่า บริษัทหรือองค์การมีความรู้ที่จะเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ไปยังคุณค่าได้อย่างไร โดยจะมีคุณลักษณะหลัก เช่น 1) ความเป็นระบบ (Systematic) 2) ระบบเปิด (Open) 3) พลวัต (Dynamic) 4) มีลักษณะทำให้เหมาะได้ (Adaptive) และ 5) เป็นนวัตกรรม (Innovation)
ตรรกภายในตัวแบบ (Model of Internal Logic) เป็นความพยายามที่จะอธิบายความเชื่อมโยงหรือเป็นความอิสระพื้นฐานซึ่งมีอยู่ระหว่างทุนที่เป็นองค์ประกอบของตัวแบบ
ภาพที่ 1 แนวคิดเชิงตรรกของ SICM


ดังนั้นตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาหรือ SICM จึงเป็นเครื่องมือการจัดการธุรกิจที่สามารถใช้เพื่อพัฒนาและกำกับติดตามว่า บริษัทได้มีวิธีดำเนินการในการใช้ความสามารถและทรัพยากรความรู้ที่มีอยู่เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น โดย SICM จะประกอบด้วย
1) องค์ประกอบหลักอย่างน้อย 3 องค์ประกอบคือ ทุนมนุษย์ ทุนความความสัมพันธ์และทุนโครงสร้าง
2) ในแต่ละองค์ประกอบหลักจะมีความสามารถ (Competencies) และดัชนีบ่งชี้ (Indicators) หรือดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indicators: KPIs) ของความสามารถในแต่ละองค์ประกอบนั้นๆ

5. กรณีศึกษา (Case Study) หมายถึง การสืบสวนเชิงประจักษ์ที่ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ร่วมสมัยภายในบริษัทที่เป็นสภาพจริงของบริษัทที่เลือกเป็นกรณี (Case)

6. ความเป็นไตรวิธีการ (Triangulation) หมายถึง การใช้แหล่งข้อมูลในการศึกษาหลายแหล่ง การใช้มุมมองหลากมิติในการแปลความชุดของข้อมูลเดียวและการใช้วิธีการหลากหลายในการวิเคราะห์และสรุปผลโดยความเป็นไตรวิธีการจะมีในหลายด้าน เช่น
1) การผสมในรูปแบบของข้อมูล (Data Triangulation) ซึ่งเป็นการใช้แหล่งของข้อมูลที่หลากหลายในการศึกษา

2) การผสมของวิธีวิทยาการ (Method Triangulation) เป็นการใช้วิธีการศึกษาข้อมูลด้วยหลากหลายวิธี เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การมีส่วนร่วมและเอกสารต่างๆ เป็นต้น
3) การผสมของทฤษฎี (Theory Triangulation) เป็นการใช้มุมมองที่ทวีคูณเพื่อแปลความชุดของข้อมูลในกรณีศึกษา
4) การผสมของผู้ศึกษา (Investigator Triangulation) เป็นการใช้ทรัพยากรผู้ให้ข้อมูลหรือผู้สืบค้นที่แตกต่างอย่างหลากหลายเพื่อการศึกษากรณีศึกษา

ประโยชน์ของการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยเห็นว่าจะก่อประโยชน์ในหลายๆ ประการที่จะนำไปสู่ความสำคัญต่อธุรกิจไทยโดยเฉพาะดังนี้
1. เป็นการพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของธุรกิจไทยในบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

2. ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาจะมีองค์ประกอบของปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors : KSFs) หรือความสามารถ (Competencies) พร้อมดัชนีบ่งชี้ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือความสามารถที่จะช่วยส่งเสริม หรือสนับสนุนความได้เปรียบในการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง

3. สามารถนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาไปพัฒนาต่อยอดความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อธุรกิจไทยที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การก้าวเป็นองค์การแห่งความรู้ 

4. ผู้ที่ศึกษาและนักปฏิบัติด้านการบริหารทุนมนุษย์หรือบริหารทรัพยากรบุคคลสามารถนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและสร้างความชัดเจนในองค์การเกี่ยวกับองค์ความรู้ในด้านทุนทางปัญญา

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
 

Create Date : 21 สิงหาคม 2549


No comments:

Post a Comment