การวิจัยสร้างความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ
สิ่งที่ผู้พบเห็นในประสบการณ์ตรงจากธุรกิจในประเทศไทยด้านการศึกษาพัฒนา ความรู้ การประยุกต์เครื่องมือและกลยุทธใหม่ทางธุรกิจที่พอประมวลเป็นข้อมูลเบื้องต้นได้ 2-3 ประการคือ
1) ผู้ที่เสนอเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาก่อนหรือไม่ก็มีผลงานด้านการศึกษาในเรื่องนั้นมาเป็นพื้นฐาน
2) ผู้ที่เสนอเลือกที่จะเผยแพร่แนวคิดให้กว้างโดยผ่านทั้งวารสารวิชาการชั้นนำ
เช่น Harvard Business Review, Sloan Management หรือมีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ทั่วทุกมุมโลกและมีการสัมมนา บรรยาย รวมถึงเวบไซต์รองรับ
3) ที่น่าสนใจมากๆ คือ เป็นแนวคิดที่ใหม่ในขณะนั้นและมีการพัฒนาต่อยอดความรู้ หรือพัฒนาเครื่องมือและกลยุทธใหม่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ดังนั้น องค์การ ผู้บริหารธุรกิจระดับสูง ผู้บริหารในทุกตำแหน่งและผู้ประกอบการ รวมทั้งสถาบันการศึกษาด้านการจัดการธุรกิจ โซลูชั่นที่เป็นคำตอบน่าจะอยู่ที่ การพัฒนาต่อยอดความรู้ เครื่องมือ และกลยุทธใหม่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการที่จะไปสู่โซลูชั่นนี้ได้คือ การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยเฉพาะการวิจัยทางธุรกิจ (Business Research) หรือวิจัยทางด้านการจัดการ (Management Research)
1.ทฤษฎีด้านการจัดการ (Management Theory)
การศึกษาเรื่องการจัดการ (Management) กับการจัดการธุรกิจ (Business Management) จะมีการศึกษาในขอบเขตเดียวกันหรือศึกษาเรื่องธุรกิจ (Business) โดยตรง
ดรักเกอร์ (Drucker, 1994; 1998) ได้สรุป “ทฤษฎีของธุรกิจ” (The Theory of Business) ว่ามีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกันดังต่อไปนี้
“ A Theory of the business has three parts.
First, There are assumptions about the environment of the organization : society and its structure, the market, the customers, and technology.
Second, There are assumptions about the specific mission of the organization.
Third, There are assumptions about the core competencies needed to accomplish the organization’s mission”
ขอถอดเพื่อความเข้าใจดังนี้
1)มีข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมขององค์การ เช่น
สังคมและโครงสร้าง การตลาด ลูกค้าและเทคโนโลยี
2)มีข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับภารกิจที่เฉพาะเจาะจงขององค์การ
3)มีข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับความสามารถหลักของธุรกิจ (Core Competencies) ที่จำเป็นต่อความสำเร็จของภารกิจองค์การ
และลักษณะของทฤษฎีทางธุรกิจที่แม่นตรงหรือสมเหตุสมผลจะมีคุณลักษณะเฉพาะอยู่ 4 องค์ประกอบคือ
1)ข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภารกิจ และความสามารถหลักของธุรกิจต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง
2)ข้อตกลงเบื้องต้นให้ทั้ง 3 ขอบเขตต้องสอดคล้องซึ่งกันและกัน
3)ทฤษฎีของธุรกิจต้องเป็นที่รู้จักและเข้าใจโดยตลอดองค์การ
4)ทฤษฎีของธุรกิจต้องได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
และจากหนังสือ “Management Challenges for the 21st Century”
ดรักเกอร์ (Drucker, 199) ได้ตั้งพาราไดม์ใหม่ของการจัดการ (New Management Paradigm) ไว้ว่า
“การจัดการจะสนใจและเป็นความรับผิดชอบในทุกๆ สิ่งที่มีผลต่อผลงานของสถาบันและผลลัพธ์ที่มีทั้งภายในหรือภายนอก ภายใต้การควบคุมของสถาบันหรือที่เหนือกว่า”
2.การสร้างทฤษฎีด้านการจัดการ (Management Theory Development) ศาสตร์ (Science) ของแต่ละสาขาวิชาจะมีการพัฒนาจนเป็นวิชาชีพ ย่อมมีการ
ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัยสร้างองค์ความรู้ (Body of Knowledge) ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ “ทฤษฎี” (Theory) เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการสร้างองค์ความรู้ทั่วไปของศาสตร์ในสาขาวิชานั้นๆ
ขณะเดียวกันทฤษฎียังเป็นหัวใจของการศึกษาและพัฒนา หรือหักล้างและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ให้ศาสตร์ในสาขาวิชานั้นแตกแขนงองค์ความรู้ออกได้อย่างมากมาย
สรุปแล้วศาสตร์ทุกสาขาจะประกอบด้วย (1) องค์ความรู้ (Body of Knowledge) (2) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (Terminology) และ (3) วิธีการแสวงหาความรู้ (Modes of Inquiry) (สมหวัง พิธิยานุวัฒน์, 2540)
ดังนั้นศาสตร์ด้านการจัดการจึงได้มาจาก การวิจัยด้านการจัดการที่ครบทั้ง 3 องค์ประกอบคือ องค์ความรู้ด้านการจัดการ ศัพท์เฉพาะด้านการจัดการ และวิธีการแสวงหาความรู้ด้านการจัดการ รวมถึงจะเกี่ยวข้องกับการวิจัยเพื่อแสวงหาความรู้โดยมุ่งเน้นใน “วิธีวิทยา” (Methodology of Theory) และ “เนื้อหา” (Contents of Theory) ซึ่งจะทำให้องค์การสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้
2.1ทฤษฎีคืออะไร
การให้ความหมายของทฤษฎีในปัจจุบัน จะหยิบยกมาจากพจนานุกรม หรือตำราทางการวิจัยเป็นหลัก อาทิ
The Advanced Learner’s Dictionary of Current English (Hornby, Gatenby and Wakefield, 1973) อธิบายว่า ทฤษฎีเป็นการอธิบายหลักการทั่วไปของศิลป์ หรือศาสตร์
ธีระ อาชวเมธี (2521) อธิบายทฤษฎีไว้ดังนี้
คำว่า “ทฤษฎี” หรือ “Theory” มาจากคำภาษากรีกเดิมว่า “Theoria” ซึ่งแปลว่า การมองดู (a looking at คงหมายถึงการมองดูทางจิตหรือ Mental Viewing) การคิดดู (Contemplation) หรือการเดาดู (Speculation)
เคอร์ลิงเจอร์ (Kerlinger,1983) ได้ให้นิยามและธรรมชาติของทฤษฎีไว้ดังนี้
“ A Theory is a set of interrelated constructs (concepts) definitions, and propositions that present a systematic view of phenomena by specifying relations among variables, with the purpose of explaining and predicting the phenomena”
ขอถอดความเพื่อความเข้าใจดังนี้
ทฤษฎีคือ ชุดของความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ นิยามและข้อเสนอที่มองปรากฏการณ์อย่างเป็นระบบจากตัวแปรที่มีความสัมพันธ์ โดยเฉพาะระหว่างกันด้วยจุดประสงค์เพื่อการอธิบายและทำนายปรากฏการณ์และในนิยามนี้จะประกอบด้วย 3 สิ่งคือ
(1)ทฤษฎีเป็นชุดของข้อเสนอที่ประกอบจากนิยามและความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ (โครงสร้าง)
(2)ทฤษฎีเริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างกันของชุดตัวแปร (โครงสร้าง) และดำเนินการนำเสนอการบรรยายตัวแปรต่างๆ ในปรากฏการณ์อย่างเป็นระบบ
(3)ทฤษฎีอธิบายปรากฏการณ์
สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ (2523) อธิบายทฤษฎีตามแนวคิดของ Campell ไว้ว่า
“ทฤษฎี เป็นข้อความชุดหนึ่งที่ต่อเนื่องกันซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ข้อความกลุ่มแรกเกี่ยวกับความคิดบางอย่างซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของทฤษฎี ข้อความกลุ่มที่สอง เป็นข้อความแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกังกล่าวกับความคิดอ่านซึ่งมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง เราเรียกข้อความในกลุ่มแรกรวมกันว่าเป็น”สมมติฐาน” (Hypothesis) ของทฤษฎีและข้อความกลุ่มที่สองว่า “พจนานุกรม” (Dictionary)”
ศิริชัย กาญจนวาสี (2537) สรุปคำว่า ทฤษฎี ไว้ดังนี้
“ทฤษฎี เป็นข้อความนัยทั่วไปที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการหรือมโนทัศน์ที่สามารถใช้ทำความเข้าใจ บรรยาย อธิบายหรือทำนายปรากฏการณ์เฉพาะต่างๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล” และธรรมชาติของทฤษฎีจะมีสิ่งสำคัญพอสรุปได้ 3 อย่างคือ (1) ทฤษฎีเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาอย่างสมเหตุสมผล (2) ทฤษฎีเป็นภาพความคิดโดยทั่วไปที่สามารถใช้อธิบายในสถานการณ์เฉพาะ และ (3) ทฤษฎีเป็นสิ่งที่ยังไม่ถาวร ย่อมมีพัฒนาการเกิดขึ้นเสมอ
คูเปอร์และชินด์เลอร์ (Cooper and Schindler, 2003) ให้นิยามทฤษฎีว่าเป็นชุดของความสัมพันธ์ที่เป็นระบบระหว่างมโนยทัศน์ นิยามและข้อเสนอที่เป็นการอธิบายและทำนายปรากฏการณ์ (ข้อเท็จจริง) ขั้นสูง
โดยสรุปสิ่งที่จะเรียกว่า “ทฤษฎี” ได้นั้น ต้องเป็นทฤษฎีในความหมายของข้อความนัยทั่วไปที่สร้างขึ้นมาจากความสัมพันธ์ของแนวคิด (Concepts) นิยาม (Definitions) และข้อเสนอ (Propositions) ที่สามารถใช้ในการอธิบาย (Explain) และทำนาย (Prodict) ปรากฎการณ์หรือกฎธรรมชาติซึ่งทดสอบจากวิธีสังเกตได้โดยตรง
2.2การสร้างทฤษฎีทฤษฎีที่สร้างขึ้นมาแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยังไม่ถาวร เพราะอาจมีการหักล้างหรือปรับใหม่ แต่ก็มีความสมเหตุสมผลด้วยข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) และด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) จะทำให้มีการพัฒนาทฤษฎีที่สมเหตุสมผล
ขั้นตอนในการสร้างทฤษฎีสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบแต่ผู้เขียนจะนำเสนอใน 2 ลักษณะ (Fawcett and Downs, 1986 อ้างถึงใน ศิริชัย กาญจนวาสี, 2537; ธีระ อาชวเมธี, 2521) คือ (1) ทฤษฎีแบบอธิบายและทำนายเชิงวิทยาศาสตร์ (Scienctific Explanation Prediction Theory) และ (2) ทฤษฎีเชิงประจักษ์ (Empirical Theory) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
(1)ทฤษฎีแบบอธิบายและทำนายเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Explanation-Prediction Theory)
การสร้างทฤษฎีด้วยวิธีการอธิบายและทำนายเชิงบวิทยาศาสตร์ด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ (Concept) ที่สร้างขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอ (Proposition) หรือหลักการ (Principle) และการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระว่างข้อเสนอจะนำไปสู่การสร้างทฤษฎี (Theory)
(2)ทฤษฎีแบบเชิงประจักษ์ (Empirical Theory)
การสร้างทฤษฎีแบบเชิงประจักษ์ เป็นสิ่งที่นักวิจัยสร้างขึ้นมาเองและสร้างขึ้นเพื่อ
1) อธิบายปรากฏการณ์หรือกฏธรรมชาติ
และ 2) ทำนายปรากฏการณ์หรือ
กฏธรรมชาติจากแบบแผนของทฤษฎีดังนี้
S [a1……..a] มักเป็นข้อความที่กล่าวถึงสิ่งหรือกระบวนการที่อยู่ซ่อนเร้น
S [b1………bm] ต้องเป็นข้อความที่กล่าวถึงสิ่งที่สังเกตได้โดยตรง
โดยที่ a กับ b แทนข้อความและ n กับ m มีค่าเท่าไหร่ก็ได้ตั้งแต่ 1 ขึ้นไป
และเครื่องหมาย ในแบบแผนแทนคำว่า “ผล” หรือ “Imply” หรือ “Implies”
ดังนั้น ทฤษฎีจึงเป็นแบบแผนได้ดังนี้
S [a1…..an] S [b1……bn]…………..(A)
สำหรับข้อความ [a1…..an ] ใน S [a1…..an ] เรียกว่า สัจพจน์ (Axioms) ของทฤษฎี-สิ่งที่เห็นจริงแล้วโดยทั่วกัน
หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption)
หรืออาจเรียกว่า หลักฐานยืนยัน (Postulates)
และข้อความ b1……bn ใน S [b1……bn ] จะเรียกว่า ทฤษฎีบทของทฤษฎี (Theorems)
ถ้าเราใช้ Postulate ซึ่งเป็นคำกลางที่สุด (ธีระ อาชวเมธี, 2521, หน้า 123) จะ ทำให้ได้แบบแผนใหม่ของทฤษฎีเป็นดังนี้
P1 ,P2……Pn Th 1 ,Th2 …..Thn ……(B)
โดยให้ P = Postulate และ Th = Theorem
ทฤษฎีที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์จะต้องสามารถใช้ในการทำนายปรากฏการณ์ หรือกฏธรรมชาติซึ่งทดสอบโดยวิธีสังเกตได้โดยตรง ซึ่งหมายความว่า
ทฤษฎีที่มีอำนาจมาก P1 ,P2……Pn จะ imply Th เป็นจำนวนมากมายแต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้วิจัยมักเสนอ Th เพียงไม่กี่ตัวโดยเสนอแต่ตัวที่สำคัญๆ
2.3การพัฒนาทฤษฎีด้านการจัดการ
การพัฒนาทฤษฎีด้านการจัดการให้เป็นศาสตร์นั้นต้องมีการสร้างองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาทฤษฎีและกฎเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
ทฤษฎีด้านการจัดการจึงควรมีลักษณะของความเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายของการอธิบายและทำนายความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างข้อเท็จจริง เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทางธุรกิจ
นิวแมน (Neuman, 2000 อ้างถึงใน Creswell, 2003) อธิบายความกว้างของทฤษฎีไว้ว่า ควรมีความกว้างและครอบคลุมใน 3 ระดับด้วยกันคือ ทฤษฎีระดับไมโคร (Micro-Level Theories) ซึ่งอธิบายได้จำกัดในส่วนเล็กของเวลา เทศะ (Space) หรือจำนวนของคน เช่น พฤติกรรมของพนักงานในแต่ละแผนกที่มีต่อผู้บังคับบัญชาใหม่ของบริษัท ก. ทฤษฎีระดับเมโส (Meso-Level Theories) เป็นทฤษฎีที่เชื่อมโยงระหว่างไมโครกับแมคโคร เช่น ทฤษฎีขององค์การ การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือชุมชน อาทิ ทฤษฎีการควบคุมภายในองค์การของคอลลิน และ ทฤษฎีระดับแมคโคร (Macro-Level Theories) อธิบายสิ่งที่ใหญ่หรือลักษณะรวม เช่น สถาบันทางสังคม ระบบวัฒนธรรมและสังคมโดยรวม ตัวอย่างของทฤษฎีระดับนี้คือ การอธิบายผลผลิตของสังคมส่วนเกินที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาจากการพัฒนาสังคม
ดังนั้น ทฤษฎีด้านการจัดการที่ดี ควรมีคุณลักษณะสำคัญ เช่น
(1)มีความเป็นสากลทั่วไป (Generality) คือ สามารถนำทฤษฎีด้านการจัดการไปประยุกต์ใช้ในเชิงรูปธรรมของเหตุการณ์เฉพาะต่างๆ ได้
(2)มีความเป็นปรนัย (Objectivity) คือ เป็นทฤษฎีด้านการจัดการที่มีความเป็นกลางไม่มีอคติส่วนตัวและสามารถตรวจสอบซ้ำได้ เช่น ทฤษฎีเอ็กซ์และทฤษฎีวาย
(3)มีความเชื่อถือได้สูง (Reliability) คือ สามารถนำทฤษฎีด้านการจัดการไปอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในธุรกิจ องค์กร หรือสภาพแวดล้อมของการทำงานต่างๆ ได้อย่างคงเส้นคงวา และควรสอดคล้องกับทฤษฎีหลักอื่นๆ
(4)มีโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systematic Structure) หมายถึง ทฤษฎีด้านการจัดการนั้นๆ มีองค์ประกอบหรือส่วนต่างๆ ของทฤษฎีที่สอดคล้องและรองรับกันทั้งในระดับการบรรยาย (Descriptive Level) ระดับการอธิบาย (Explanatory Level) และระดับการทำนาย (Predictive Level) ในเหตุการณ์ต่างๆ
(5)สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย (Comprehensiveness) หมาย-หมายความว่า ทฤษฎีด้านการจัดการนั้นๆ มีมโนทัศน์จำนวนไม่มากแต่เพียงพอที่จะใช้อธิบายและทำนาย หรือควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ
อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants
Create Date : 15 มิถุนายน 2549
No comments:
Post a Comment