Tuesday, April 6, 2010

วิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจ(1) โดย ดนัย เทียนพุฒ

บทคัดย่อ (Abstract)

การพัฒนาด้านความรู้ เครื่องมือใหม่และกลยุทธ์ใหม่ๆ ทางธุรกิจโดยเฉพาะข้อตกลงเบื้องต้นใหม่ด้านการจัดการของปีเตอร์ ดรักเกอร์ เป็นองค์ความรู้และทฤษฎีการจัดการจากนักวิชาการซีกโลกตะวันตกที่ธุรกิจและสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยมักหยิบมาใช้อย่างทันที
บทความเรื่องวิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจได้เร่งเร้าและกระตุ้นอย่างเข้มข้น โดยอธิบายถึงการวิจัยสร้างความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ และการพัฒนาวิสัยทัศน์เพื่อการจัดการธุรกิจในทิศทางที่ควรจะเป็นสำหรับประเทศไทย ทั้งการนำความรู้มาถ่ายทอดโดยผ่านกระบวนการวิจัย การมุ่งผลิตความรู้เพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจ รวมถึงวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ




ชีวิตธุรกิจ ชีวิตคน คงหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกับการจัดการ (Management) ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดๆ เช่น การทำงาน การใช้ชีวิตส่วนตัว การใช้ชีวิตครอบครัว หรือการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง หรือการศึกษาของบุตร-หลานในครอบครัว เป็นต้น และเมื่อการจัดการได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนโดยเฉพาะในโลกธุรกิจและการทำงาน และในขณะที่ทุกท่านทำงานอยู่นั้นท่านก็จะได้พบกับสิ่งต่อไปนี้
1)ธุรกิจบางแห่งมีการจัดการที่ดีทำให้ธุรกิจเติบโต มีผลกำไรอย่างมากมาย
และเป็นธุรกิจที่ทุกคนอยากเข้ามาปฏิบัติงานหรือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของธุรกิจแห่งนี้
2)ผู้บริหารธุรกิจหรือผู้จัดการในแต่ละดับชั้นขององค์การหรือ แต่ละหน่วยงานจะมีทั้งผู้บริหารที่มีความสามารถในการจัดการที่สูงกับในทางตรงกันข้าม
3)การพัฒนาในองค์ความรู้ด้านการจัดการ จะมีการศึกษาและวิจัยทางการจัดการธุรกิจและเครื่องมือใหม่ๆ ทางการจัดการออกมาสู่โลกธุรกิจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ผู้บริหารธุรกิจหรือพนักงานจะทราบได้อย่างไรว่า องค์ความรู้และเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้มีความเหมาะสมที่จะนำเข้ามาใช้ในองค์การ หรือมีวิธีการใช้อย่างไรจึงจะสามารถดำเนินการจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้
4)ในทางปฏิบัติของด้านการจัดการ มีองค์การชั้นนำที่ได้นำแนวคิด ทฤษฎีหรือเครื่องมือใหม่ทางการจัดการเข้ามาใช้ เช่น การจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management หรือ TQM) การประเมินองค์การแบบสมดุล (The Balanced Scorecard : BSC) การจัดทำมาตรฐานเทียบวัด (Benchmarking) หรือการปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (Best Practices)
ซึ่งในทางปฏิบัติ จะมีหลายธุรกิจที่ได้มีการจัดทำและได้พัฒนาไประยะหนึ่งจนกระทั่งมีการปรับแนวคิด หลักการ หรือสร้างเป็นโมเดลใหม่ขึ้นมา จะถือว่าธุรกิจเหล่านี้ค้นพบทฤษฎีใหม่ทางการจัดการหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ความสำเร็จในการประยุกต์เครื่องมือใหม่ๆ ทางการจัดการ

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Drucker, (1999) ปรมาจารย์ด้านการจัดการ ได้ตั้งข้อตกลงเบื้องต้นใหม่ (The New Assumption) ของการจัดการในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถนำมาพิจารณาหรืออธิบาย การพัฒนาทฤษฎีหรือการวิจัยด้านการจัดการธุรกิจ โดยข้อตกลงเบื้องต้นของปีเตอร์ ดรักเกอร์ สรุปไว้ว่า
(1)การจัดการเป็นองคาพยพของความเฉพาะและความแตกต่างของทุกๆ สิ่งในองค์การ
(2)องค์การควรจะจัดให้เหมาะสมกับงาน
(3)ไม่ใช่การจัดการคนแต่เป็นการนำคนและเป้าหมายคือ การใช้จุดแข็งที่เฉพาะและความรู้ของแต่ละบุคคลสร้างให้เกิดผลผลิต
(4)พื้นฐานของการจัดการเดิมมีสมมติฐานที่เทคโนโลยีและนโยบายการจัดการ (Management Policy) พื้นฐานใหม่ที่แท้จริงต้องอยู่บนคุณค่าของลูกค้า (Customer Value) และการตัดสินใจของลูกค้า (Customer Decisions) ภายใต้การจัดสรรรายได้ของตนเอง
ดังนั้นการจัดการนโยบายและกลยุทธ์ต้องก้าวเข้าไปเริ่มต้นในพื้นฐานใหม่นี้
(5)ข้อตกลงเบื้องต้นใหม่ของการจัดการ ทั้งด้านวินัยและการปฏิบัติกำลังเพิ่มขึ้นในพื้นฐานของการจัดการที่ไม่ใช่ขอบเขตของการจัดการด้านกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติการที่กระบวนการเพื่อมุ่งผลลัพธ์และผลงานโดยตลอดทั้งโซ่เศรษฐกิจ (Economic Chain)
(6)การปฏิบัติด้านการจัดการ ไม่ใช่วิธีการสำหรับธุรกิจเท่านั้น แต่กำลังเพิ่มขึ้นในนิยามด้านการปฏิบัติการที่เข้าสู่ขอบเขตระดับประเทศมากกว่าในระดับการเมือง
(7)การจัดการมีอยู่เพื่อประโยชน์ในผลลัพธ์ของสถาบัน ซึ่งจะเริ่มต้นจากการกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการและจัดการทรัพยากรของสถาบันเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์
การจัดการจึงเป็นองคาพยพที่ทำให้มีสถาบันธุรกิจ โบสถ์ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ฯลฯ รวมถึงความสามารถในการสร้างผลลัพธ์ภายนอกจากตนเอง

การจัดการจึงสรุปได้ว่าเป็นความสนใจและเป็นความรับผิดชอบในทุกๆ สิ่งที่มีผลต่อผลงานของสถาบันและผลลัพธ์ที่มีทั้งภายในหรือภายนอก ภายใต้การควบคุมของสถาบันหรือที่เหนือกว่าบนบริบทที่เปลี่ยนแปลงของธุรกิจในศตวรรษที่ 21 และภายใต้ข้อตกลงเบื้องต้นใหม่ของการจัดการตามที่ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เสนอออกมา ธุรกิจชั้นนำในเมืองไทย ผู้บริหารระดับสูง หรือสถาบันการศึกษาด้านการจัดการธุรกิจ จะมีเครื่องมือหรือใช้วิธีการอะไรในการตรวจสอบหรือพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจฯ จากซีกโลกตะวันตก หรือแม้กระทั่งพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างทฤษฎีใหม่ทางการจัดการธุรกิจที่เป็นของธุรกิจหรือประเทศไทยขึ้นมาใช้ได้ด้วยตนเอง

ฉะนั้นการมีวิสัยทัศน์ทางการวิจัยด้านการจัดการธุรกิจในประเทศไทย ทั้งธุรกิจชั้นนำ ผู้บริหารระดับสูง สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการธุรกิจ จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในการพัฒนาทั้งองค์ความรู้ใหม่ด้านการจัดการธุรกิจ การนำเครื่องมือหรือกลยุทธ์ใหม่เข้าไปตรวจสอบกับสภาพจริงของธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก จนกระทั่งเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ-ชาติได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
Create Date : 15 มิถุนายน 2549

No comments:

Post a Comment