Tuesday, April 6, 2010

งานวิจัยล่าสุดด้านการจัดการทุนมนุษย์มาเป็นหนังสือใหม่ "ทุนมนุษย์จัดการให้ดีสู่ดีเลิศ"



        กว่าจะมาเป็นหนังสือ "ทุนมนุษย์จัดการให้ดีสู่ดีเลิศ" เล่มนี้ เริ่มมาจาก ดร.ดนัย เทียนพุฒ ผู้นำด้าน HR สมัยใหม่ มีความสนใจตั้งแต่ช่วงที่ทำ Dissertation ในระดับปริญญาเอกว่า เรื่องของ การจัดการทุนมนุษย์ (Human Capital Management : HCM) เป็นสิ่งที่สับสนกันมากในวงการด้าน HR และธุรกิจ แต่ยังติดว่าตอนนั้นมุ่งสนใจในเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับ "การจัดการทุนทางปัญญา(Intellectual Capital Management)" ทำให้ต้องหยุด เรื่อง HCM ไว้ก่อน
       พอปี่ 2551 มีเวลาที่จะขยับทำวิจัยด้าน HCM จึงจัดทำโครงการวิจัยเรื่อง "โมเดลใหม่การจัดการและการวัดทุนมนุษย์สำหรับธุรกิจในประเทศไทย" ขึ้นมา ซึ่งได้นำเสนอความคืบหน้าและผลการศึกษามาเป็นระยะ หรือ ผู้บริหาร HR ที่เข้าโปรแกรมสัมมนากับ ผู้เขียนได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมในการตอบแบบสอบถาม(ต้องขอขอบคุณ ณ ที่นี้มาอีกครั้ง) และโดยเพราะกลุ่มที่เข้าสัมมนาเรื่อง "วิธีการสร้าง KPI เพื่อวัดความสำเร็จในการบริหาร  HR" ได้ร่วมทำ กลุ่มสนทนา (Focus group) เพื่อยืนยันผลการศึกษา เมื่อผู้เขียนสรุปผลเสร็จได้เผยแพร่ขั้นต้น (มีผู้เข้ามา Download มากทีเดียวครับ ประมาณ 500 กว่า ผู้เยี่ยมชม........คลิกไปอ่าน/โหลดได้....."ทุนมนุษย์"  เปิดงานวิจัยล่าสุด โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ)
           หลังจากนั้นอีกพักนึง ประมาณ 16 มี.ค.53 หนังสือเล่มนี้ใกล้จบเต็มที่.. จนเสร็จเป็นต้นฉบับเรียบร้อย เหลือรูปเล่มอีกนิดหน่อย
           ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้คือ เป็นงานวิจัยโครงการข้างต้นแต่เขียน ในรูปแบบกึ่งวิชาการ ไม่ใช่เขียน 100 % เป็นรายงานการวิจัย เพราะรายงานการวิจัยไม่น่าอ่าน  เผยแพร่ได้ในวงจำกัด  และไม่คิดที่จะหยิบไปต่อยอดความรู้ ทำให้ผู้เขียนปรับแนวคิดใหม่ของการเขียนงานวิจัยให้เป็น Practical Research Report หรือ Business The How-to Book 
           ขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ได้ตอบคำถามและข้อสับสนทาง การจัดการทุนมนุษย์ ทั้งความหมาย จุดมุ่ง  การจัดการ HC และการวัด HCM อีกทั้งในส่วนต้นของหนังสือได้ย้อนกลับไปสู่วิวัฒนาการ HRM และความแตกต่างกับ HCM  กลับในบทท้ายได้เชื่อม ความท้าทายในอนาคตของ HR Transformation กับ HCM ให้เห็น การจัดการทุนมนุษย์ที่ยังไม่มีใครคิดมาก่อน

           นี่คือความท้าทายทางปัญญาสำหรับ "การบริหาร HR" ที่ท่านจะได้จากหนังสือ"ทุนมนุษย์จัดการให้ดีสู่ดีเลิศ" บวกกับการวิจัย"โมเดลใหม่การจัดการและการวัดทุนมนุษย์สำหรับธุรกิจในประเทศไทยเหมือน 2 in 1 ครับ
  
          ชื่อหนังสือเล่มนี้ : ทุนมนุษย์จัดการให้ดีสู่ดีเลิส
           ผู้แต่ง   : ดร.ดนัย เทียนพุฒ
          จุดเด่น  :  เป็น การจัดการทุนมนุษย์ที่มาจากการวิจัยด้าน HR ในประเทศไทย และชี้อนาคตกับการแปลงรูป HR (HR Transformation)
           จำนวน :  400 หน้า (รูปเล่มเบื้องต้นจัดทำในลักษณะถ่ายสำเนาเข้าเล่มสันกาวอย่างสวยงาม)
           ราคา :    450 บาท
(ค่าส่งฟรี ทั่วประเทศ พร้อมอภินันทนาการหนังสือการพัฒนามูลค่าทุนมนุษย์ มูลค่า220 บาท 1เล่ม ฟรี)
           สนใจติดต่อ  :โครงการ Human Capital , Tel/Fax 029301133 ,Tel 029395643
   


สารบัญเนื้อหา (รับประกันความผิดหวัง)

บทนำ ทุนมนุษย์: สินทรัพย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้
บทที่ 1 ธุรกิจอนาคต : ความท้าทายและแรงกดดันต่อการบริหาร HR
   ทัศนภาพของแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลง
   - โลกอนาคต 2020
   - วิสัยทัศน์ในปี 2020
   - ธุรกิจในปี 2020
   - บริษัทในปี 2020
   - อนาคตประเทศไทยในปี 2020
  ความท้าทายและแรงกดดันต่อการบริหาร HR   
  การบริหาร HR ในอนาคตภายใต้บริบทและวัฒนธรรมการบริหารธุรกิจในประเทศไทย

บทที่ 2 แนวคิดของ HRM
   แนวคิดของ HRM
   - ที่มาของคำว่า “Personnel Management”
   - เกิดคำว่า “Human Resource Management”
   - มุมมองและขอบเขตของ HRM
   - ศาสตร์ของการจัดการใน HRM
   - วิวัฒนาการของหน้าที่ HR
   - HRM ในประเทศไทย

บทที่ 3 แก่นแท้ของการจัดการทุนมนุษย์
  3.1 แนวคิดของทุนมนุษย์
   ทุนมนุษย์ (Human Capital)
   - จุดเริ่มต้นของแนวคิด
   - การให้ความหมายของทุนมนุษย์
   - ปรับแนวคิดสู่วิธีการใหม่
   - ทุนมนุษย์ : วงจรข้อมูลสู่คุณค่า
   - ทุนมนุษย์ในการบริหาร HR ของไทย
- นิยามทุนมนุษย์ : บทสรุป
  3.2 จุดมุ่งของทุนมนุษย์
   จุดมุ่งของทุนมนุษย์
   วิวัฒนาการจุดมุ่งทุนมนุษย์ในบริบทของ HR
   - วิวัฒนาการของจุดมุ่งทางกลยุทธและบทบทของ HR
   - การสร้างคุณค่า HR ต่อธุรกิจ
   - โมเดล HCM เชื่อมโยงสู่ HR Scorecard
   แนวคิดในการวัดมูลค่าทุนมนุษย์
   - แนวคิดเริ่มแรกของการวัดมูลค่าทุนมนุษย์
   - วิธีการที่ธุรกิจนิยมใช้ในการวัดประสิทธิผล HR
   - ความตระหนักรับผิดชอบในการวัดทุนมนุษย์
    อนาคตที่ควรมุ่งไปของการจัดการทุนมนุษย์
  3.3 การจัดการทุนมนุษย์
    การจัดการทุนมนุษย์
    การจัดการทุนมนุษย์ : สร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนมนุษย์
   - การนิยาม HCM
   จุดประสงค์ องค์ประกอบและกระบวนการของ HCM
   - จุดประสงค์ของ HCM
   - องค์ประกอบของ HCM
   - กระบวนการของ HCM
   วิธีการของ HCM
   - โรดแมปทั่วไป : HCM Model
   - โมเดลการจัดการสินทรัพย์ความรู้
   - แผนที่คุณค่า HCM
   -10 ขั้นตอนเพื่อความสำเร็จใน HCM
   - การเดินทางสู่ HCM
  3.4 การวัดการจัดการทุนมนุษย์
    การวัดการจัดการทุนมนุษย์
    ความหมายของการวัด
      - การวัดคืออะไร?
    มิติของการวัด
   วิธีการวัดที่ธุรกิจนิยมใช้
      - วิธีการวัดทุนมนุษย์
      - 7 ขั้นตอนของมาตรการวัดที่ดี
   โมเดลของการวัด HCM
     - ดัชนีวัดทุนมนุษย์ (Human Capital Index (HC Index)
     - เมทริกซ์คุณค่า HCM (The HCM Value Matrix)
     - วาระใหม่ของ HR เชิงธุรกิจ : 56 รายการ
       ตรวจสอบ HRM ที่มีประสิทธิภาพ
     - การวัด ROI ของทุนมนุษย์
     - HR Scorecard
   งานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวัด HCM
     - HCM กับกลยุทธธุรกิจ
     - การวัด HCM: ปัจจัยแลดัชนีชี้วัด
     - ตัวอย่างความสำเร็จการวัด HCM ที่ RBS

บทที่ 4 การสังเคราะห์โมเดลใหม่การจัดการและการวัดทุนมนุษย์
   การสังเคราะห์โมเดลใหม่การจัดการและการวัดทุนมนุษย์
   - บริบทแรก ธุรกิจอนาคต : ความท้าทายและแรงกดดันต่อการบริหาร HR
   - บริบทที่สอง แนวคิดและทฤษฎี HCM
   - บริบทที่สาม การจัดการและการวัดทุนมนุษย์
   - บริบทที่สี่ โมเดลใหม่ของการจัดการและการวัดทุนมนุษย์สำหรับธุรกิจในประเทศไทย

บทสรุป ความท้าทายของ HCM สู่อนาคต

ภาคผนวก 
ก. ภาพรวมการวิจัย
   ข. คุณลักษณะของผู้ตอบแบบสอบถาม
   ค. การวิเคราะห์ทางสถิติด้านการปรับใช้วิธีการของการจัดการทุนมนุษย์
   ง. ลำดับความสำคัญของขอบเขตงาน HCM
   จ. สิ่งที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ในการวัด HCM
อ้างอิง


เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ปีที่ 5 ฉ.2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2552 ได่้ติดต่อขอให้ผมส่งบทความเผยแพร่ ทำให้มีโอกาสค้นงานวิจัยเรื่องธุรกิจครอบครัวไทย ที่ได้ทำไว้ในปีที่ผ่านมา มอบให้ทางกองบรรณาธิการพิจารณาเผยแพร่ ตามที่เห็นสมควร

สนใจอ่านได้ครับ (ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบบทความทางวิชาการมาก่อนเพราะไม่มีเวลาปั้นในรูปแบบนี้ เพราะสนใจและชอบที่จะพิมพ์เป็นรูปเล่มกึ่งวิชาการ ในลักษณะ Commercial research report )

ดร.ดนัย เทียนพุฒ






สรุปผลการวิจัยตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา

สรุปผลการวิจัย

การวิจัยเชิงกรณีศึกษาในครั้งนี้สังเคราะห์ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ได้ดังนี้
ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย จะมีองค์ประกอบหลัก 4 องค์ประกอบคือ 1) ทุนภาวะผู้นำ (Leadership Capital) 2) ทุนความสัมพันธ์ (Relational Capital) 3) ทุนองค์การ (Organizational Capital) และ 4) ทุนทรัพยากรบุคคล (Human Resource Capital) โดยแต่ละองค์ประกอบหลักจะมีองค์ประกอบย่อยและดัชนีบ่งชี้หรือ KPIs ดังนี้




1.ทุนภาวะผู้นำ มีองค์ประกอบย่อยคือ
(1)วัฒนธรรมเชิงคุณค่า
(2)ความภูมิใจในประสิทธิภาพขององค์การ
ดัชนีบ่งชี้หรือ KPIs
- มูลค่าเพิ่มต่อพนักงาน
- ระดับการควบคุมภายในและจริยธรรม
- ผลสำรวจเรื่องภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
- ผลกำไรต่อเป้าหมาย
2.ทุนความสัมพันธ์มีองค์ประกอบย่อยคือ
(1)ความสัมพันธ์กับลูกค้า
(2)ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมค้า
(3)ความสัมพันธ์กับพนักงาน
(4)ความพึงพอใจและจงรักภักดีต่อองค์การของลูกค้า
(5)การรักษามูลค่าเพิ่มในบริการ

ดัชนีบ่งชี้หรือ KPIs
- ระดับการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ภายนอก
- มูลค่าเพิ่มต่อลูกค้า
- มูลค่าตลาดต่อพนักงาน
- ส่วนแบ่งตลาด
- ระดับความจงรักภักดีในตราสินค้า
- ระดับความคาดหวังต่อการบริการลูกค้า
- จำนวนช่องทางจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
- จำนวนลูกค้าบ่นต่อว่าลดลง
- เปอร์เซ็นต์การส่งคืนสินค้าลดลง

3.ทุนองค์การมีองค์ประกอบย่อยคือ
(1)กระบวนการเรียนรู้ในการผลิต
(2)ทรัพย์สินทางปัญญา (ตราสินค้า,
เครื่องหมายการค้า,ซอฟท์แวร์)
(3)คุณสมบัติเฉพาะผลิตภัณฑ์
(4)ฐานข้อมูลทางความรู้

ดัชนีบ่งชี้หรือ KPIs
- กำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจใหม่
- มูลค่ารวมของสินทรัพย์
- มีผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาในแต่ละปี
-เปอร์เซ็นต์การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
- ต้นทุนการผลิตต่อ ตรม.อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
- ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อรายการต่อปี
-อัตราการปรับใหม่และพัฒนาด้านต้นทุน
-อัตราการปรับสู่มาตรฐานคุณภาพในอุตสาหกรรม

4.ทุนทรัพยากรบุคคล มีองค์ประกอบดังนี้
(1)ความเชี่ยวชาญเฉพาะ
(2)การริเริ่มและการเรียนรู้
(3)การจัดการความรู้ให้เพิ่มขึ้น
(4)การฝึกอบรมและพัฒนา
(5)สวัสดิการและการดูแลพนัก

ดัชนีบ่งชี้หรือ KPIs
- มูลค่าเพิ่มต่อพนักงาน
- ค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมต่อ ค่าใช้จ่ายบริหาร
- ค่าใช้จ่ายทั่วไปด้านการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน
- ค่าใช้จ่ายในการจัดหาและทดแทน ตำแหน่ง
- จำนวนครั้งในการฝึกอบรม
- ผลการประเมินผลจากข้อสอบ
- วิธีการประเมินผลของผลตอบแทนต่างๆ
-ผลการประเมินผลพนักงาน
- ดัชนีความพึงพอใจของพนักงาน

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
Create Date : 22 สิงหาคม 2549

รายงานวิจัยเรื่องตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา-วิธีการวิจัย

วิธีดำเนินการวิจัย






วิธีดำเนินการศึกษา


ได้สร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย โดยการนำวิสัยทัศน์ ภารกิจที่แปลไปสู่ยุทธศาสตร์ตามตัวแบบยุทธศาสตร์ (Strategy Model) ของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง มาสังเคราะห์ตามแนวทางของเฮง (Heng, 2001) ซึ่งเป็นเครื่องมือการจับคู่จากมาตรฐาน ISO 9000 กับตัวแบบทุนทางปัญญา เพื่อกำหนดรูปแบบเพื่อการทำนาย (Predicted Pattern)


การเก็บรวบรวมข้อมูลกรณีศึกษา 
เป็นการสร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทยในลักษณะรูปแบบเชิงประจักษ์ (Empirically Based Pattern) โดยการออกแบบโปรโตคอล (Protocol) ที่ช่วยสร้างวิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูลและใช้ความเป็นไตรวิธีการ (Triangulation) ในการเก็บข้อมูลซึ่งประกอบด้วย การสัมภาษณ์แบบเปิดกับการดำเนินงานของบริษัทฯ จากบุคคลที่เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน 26 คน แบบสอบถามเกี่ยวกับองค์ประกอบของทุนทางปัญญาจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 17 คนโดยมีข้อคำถาม 2 ส่วน โดยส่วนแรกเกี่ยวกับองค์ประกอบของทุนทางปัญญาใน 3 องค์ประกอบคือ ทุนมนุษย์ ทุนความสัมพันธ์ และทุนโครงสร้าง ในแบบมาตราประมาณค่า 5 ตัวเลือก จำนวน 53 ข้อคำถาม และส่วนที่สองเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญในอุตสาห-กรรม แบบมาตราประมาณค่า 10 ตัวเลือก จำนวน 12 ข้อคำถาม ส่วนการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาของแบบสอบถามใช้การตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่านและทดลองใช้ (Try Out) กับหัวหน้าแผนกผลิตและที่ปรึกษาหัวหน้าแผนกผลิตของกรณี (Case) และระดับบริหารอีก 6 คนเป็นผู้ตรวจ-สอบข้อมูลในภายหลัง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีค่าความเชื่อถือได้ของแบบสอบถามส่วนแรกเท่ากับ 0.804 ส่วนที่สองเท่ากับ 0.905
การสำรวจความต้องการของลูกค้าหรือผู้แทนจำหน่าย (จำนวน 17 ราย) โดยผู้วิจัยดำเนินการร่วมกับฝ่ายบริหารของบริษัทฯ การสังเกตแบบมีส่วนร่วมกับบริษัททั้งการดำเนิน-งานและกิจกรรมต่างๆ ในช่วงการวิจัย การศึกษาเอกสารบริษัท เช่น เอกสารคู่มือคุณภาพ คู่มือผลิตภัณฑ์ คำบรรยายลักษณะงาน โครงสร้างและหน้าที่ความรับผิดชอบ รายงานผลประกอบการบริษัท รวมถึงการยืนยันข้อมูลในกรณีที่มีข้อสงสัยหรือประเด็นที่ต้องการความชัดเจนกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญในระดับบริหารที่รับผิดชอบ


การวิเคราะห์กรณีศึกษา
ผู้วิจัยใช้เทคนิคการวิเคราะห์กรณีศึกษาที่เรียกว่า การเปรียบเทียบรูปแบบ (Pattern Matching) โดยการนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่เป็นรูปแบบเพื่อการทำนาย (Predicted Pattern) กับรูปแบบเชิงประจักษ์ (Empirically Based Pattern) มาเปรียบเทียบระหว่างองค์ประกอบที่เป็นองค์ประกอบหลักในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา สังเคราะห์ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่มีลักษณะร่วมกัน ผลจากการสังเคราะห์ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาได้องค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบคือ 1) ทุนภาวะผู้นำ 2) ทุนความสัมพันธ์ 3) ทุนกระบวนการ 4) ทุนองค์การ และ 5) ทุนทรัพยากรบุคคล แล้วทำการวิเคราะห์ข้ามกรณีศึกษา (Cross-Case Analysis) เพื่อเป็นการยืนยันการวิเคราะห์ (Verification) ระหว่างตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย กับการวัดทุนทางปัญญาสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย : 10 กรณี-ศึกษา โดยสังเคราะห์หาลักษณะร่วมขององค์ประกอบหลักและองค์ประกอบย่อยในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย ได้องค์ประกอบหลัก 4 องค์ประกอบคือ 1) ทุนภาวะผู้นำ 2) ทุนความสัมพันธ์ 3) ทุนองค์การ และ 4) ทุนทรัพยากรบุคคล สุดท้ายทำการสังเคราะห์โดยวิธีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของดัชนีบ่งชี้ (Meta-Indicators Analysis) จากดัชนีบ่งชี้ (Indicators) หรือดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indictors: KPIs) ของสแกนเดีย เนวิเกเตอร์ กับดัชนีวัดผลสำเร็จ (KPIs) ตามภารกิจของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ใน 4 ลักษณะคือ 1) ความเกี่ยวข้อง (Relevant) 2) การย่อสรุป (Precise) 3) ไม่มีขนาด (Dimensionless) (ความชัดเจนในขอบเขต) และ 4) ง่ายต่อการวัด (Easy to Measure)

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
Create Date : 21 สิงหาคม 2549

รายงานวิจัยเรื่องตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา

จุดประกายแห่งการวิจัย

ความคิดในการวิจัยของผู้วิจัยเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกในปี พ.ศ.2547 เมื่อเข้ามาศึกษาในหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยมีกรอบความคิดในเรื่องของ ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) เป็นกรอบทางความคิด (Conceptual Framework) และเมื่อทำการศึกษามากขึ้นจากหนังสือ บทความและงานวิจัยทางด้านทุนทางปัญญาและการจัดการความรู้ (Intellectual Capital and Knowledge Management) พบประกายแห่งเส้นสายสู่การวิจัยในเรื่องทุนทางปัญญาที่เจิดจ้ามากยิ่งขึ้น (Stewart, 1991; Edvinsson and Malone, 1997; Edvinsson, 2002; Sullivan, 2000; Sveiby, 1997)
ในปัจจุบันสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) หรือทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) (Edvinsson and Malone, 1997) เป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับเศรษฐกิจแห่งความรู้ ซึ่งจะเห็นว่าทุนทางปัญญาหรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มีมูลค่าต่อธุรกิจสูงมาก หากพิจารณาเปรียบเทียบโดยดูได้จากมูลค่าตลาด (Market Value) (Teece, 2000)
สวีบาย (Sveiby, 1997) ได้วิเคราะห์และสรุปผลระหว่างสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้กับมูลค่าตลาดของบริษัทในปี 2538 ไว้ว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (High Technologies) เช่น ไมโครซอฟท์ อินเทล จีเนนเทค และธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดต่ำ ขณะที่ธุรกิจสื่อ เช่น รอยเตอร์ ธุรกิจจัดการความสูญเสีย เช่น เคนโทกิล ธุรกิจด้านคอนซูเมอร์ เช่น โคคา-โคลา ยูนิลีเวอร์ ฮิวโก-บอสส์ อาร์นอทส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดสูง ส่วนธุรกิจเวชภัณฑ์ยา เช่น แอส-ตรา แกล็คโซสมิทช์ไคน์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้สูงมากกว่าธุรกิจด้านบริการ เช่น วอลมาร์ท แมคโดนัลด์ ธนาคารและบริการทางการเงิน เช่น ซิตี้คอร์ป เอเม็ก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ทรัพยากรพลังงาน มีมูลค่าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ใกล้กับมูลค่าตลาด และโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์มีสัดส่วนที่ต่ำในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาด
ในการกำหนดองค์ประกอบของทุนทางปัญญาโดยเฉพาะที่ เอ็ดวินส์สัน (Edvinsson, 1997) บุกเบิกให้ กับสแกนเดีย เอเอฟเอส (Skandia AFS) ในปี 2537 โดยเรียกว่า สแกนเดีย เนวิเกเตอร์ (Skandia Navigator) ถือเป็นตัวแบบทั่วไป (General Model) ที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรก และมักจะนิยมอ้างถึงซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบของขอบเขตด้านลูกค้า (Client Scope) ขอบเขตด้านการเงิน (Financial Scope) ขอบเขตด้านคน (Human Scope) ขอบเขตด้านกระบวนการ (Process Scope) และขอบเขตการปรับใหม่ (Renewal Scope) ส่วนตัวแบบที่พัฒนาต่อมาเป็น ตัวแบบที่เกี่ยวข้อง (Related Model) เป็นลักษณะทั้งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ตัวแบบของบริษัทดาวเคมีคอล (Dow Chemical Model, 1994) จะมีองค์ประกอบของทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนองค์การ (Organizational Capital) และทุนลูกค้า (Client Capital)

การอธิบายและการนำไปใช้ของแต่ละประเทศ ซัลลิแวน (Sullivan, 1995) สจ๊วต (Stewart, 1997) รูส์ (Roos, 1998) และอีกหลายๆ ท่านสรุปว่า มีความแตกต่างกันในองค์ประกอบของทุนทางปัญญา พาบลอส (Pablos, 2004) มีการศึกษาในช่วงปี 2537-2546 จาก 20 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมัน อินเดีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร พบว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจในการพัฒนาบรรทัดฐานที่จะให้ได้สารสนเทศที่เป็นแนวทางในการจัดการ และการวัดทุนทางปัญญา โดยสารสนเทศนี้ต้องมีความเป็นเอกพันธ์ (Homogeneous) และเปรียบเทียบกันได้ (Comparable)
แต่ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมแบบไทย ไพบูลย์ ช่างเรียน (2548) อธิบายวัฒนธรรมกับการบริหารของไทยว่ามีลักษณะเฉพาะได้แก่ การยึดถือตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นการรวมกันอยู่โดยไม่มีผลประโยชน์ที่กำหนดไว้แน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่การบริหารได้ขยายตัวสลับซับซ้อนมากขึ้น แต่การรวมกลุ่มกันในรูปแบบเป็นการเฉพาะบุคคล แบบระบบวงศาคณาญาติ หรือตามลักษณะโครงสร้างของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองแบบเดิมยังมีอิทธิพลอยู่ และโครงสร้างการบริหารของไทยมีลักษณะของการยึดตัวบุคคลเป็นหลัก ในขณะเดียวกันมีลักษณะของการรวมอำนาจเข้าหาตัวบุคคลอีกด้วย ดังนั้นเทคนิคหรือหลักเกณฑ์การบริหารต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาในวัฒนธรรมหนึ่งหรือสังคมหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมกับอีกสังคมหนึ่งก็ได้ หรือเมื่อนำหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ มาใช้แล้ว อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ทั่วไปในสังคม ฮอฟสเตด (Hofstede, 1980; 2005) ทำการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาติ (National Cultures) พบว่าจะมีมิติทางวัฒนธรรมอยู่ 5 มิติคือ 1) ความเป็นปัจเจกบุคคล กับการรวมกลุ่ม (Individualism and Collectivism) 2) ระยะของอำนาจ (Power Distance) 3) การหลีกหนีความไม่แน่นอน (Uncertainly Avoidance) 4) ความเป็นบุรุษกับสตรี (Masculinity and Femininity) และ 5) การมุ่งเน้นระยะสั้นกับระยะยาว (Long-and Short-Term Orientation) และสรุปว่าประเทศที่แตกต่างกันจะมีสถาบันที่แตกต่างกัน เช่น รัฐบาล กฎหมาย สมาคม ธุรกิจ ระบบโรงเรียนและโครงสร้างครอบครัว การทำความเข้าใจสถาบันต้องเข้าใจวัฒนธรรมและเข้าใจสมมติฐานทางวัฒนธรรมภายในของสถาบัน ผลต่อเนื่องที่สำคัญของสิ่งนี้คือ เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีของคนในประเทศ ทั้งด้านความคิด ความรู้สึกและการกระทำโดยนำเข้าสถาบันจากต่างประเทศ (Hofstede, 2005)
ฉะนั้นตัวแบบทุนทางปัญญาที่ผู้วิจัยได้ศึกษาทั้งตัวแบบทั่วไปและตัวแบบที่เกี่ยว-ข้อง รวมถึงการวิจัยในหลายๆ ประเทศ พบว่ามีองค์ประกอบอยู่หลายๆ องค์ประกอบ และยังรวมถึงองค์ประกอบ เช่น การวิจัยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา ทุนมนุษย์ โครงสร้างองค์การ วิธีการทำงาน การตลาด ตราสินค้า ลูกค้า และเครือข่ายซัพพลายเออร์ รวมทั้งซอฟท์แวร์ (Stewart, 2001; Sullivan, 2000; Edvinsson, 2002; Bontis, 1996) จึงทำให้มีความสับสน ยุ่งยากในการนิยาม การจัดการ และการเก็บสารสนเทศที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก การวัดมูลค่าซึ่งเป็นการคำนวณทางการเงินหรือทางบัญชี การรายงานจึงผิดพลาดและไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ

ตัวแบบทุนทางปัญญาของนักคิดทางตะวันตก เมื่อจะนำมาปรับใช้ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีความเฉพาะของวัฒนธรรมการบริหารแบบองค์การธุรกิจไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ขององค์ประกอบทุนทางปัญญาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาความเป็นไปได้ในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องกับมุมมองด้านคุณค่าของวัฒนธรรมในองค์การสำหรับองค์การที่มีประสิทธิภาพหรือมีการจัดการให้มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งไม่สามารถนำทฤษฎีการจัดการทั้งหมดจากต่างประเทศนำไปสู่การปฏิบัติ (Komin, 1991) ผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทยโดยศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นลักษณะการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research) เพื่อวิจัยปรากฏการณ์ร่วมสมัยในบริบทของสภาพธุรกิจที่แท้จริง (Yin, 1994)

คำถามที่ผู้วิจัยสนใจ

การศึกษาในเรื่อง ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง (A Strategic Intellectual Capital Model for Thai Enterprises: A Study of Construction Accessories Company)

มีคำถามที่ผู้วิจัยสนใจโดยผู้วิจัยมีคำถามหลักในการวิจัยว่า
ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาจะมีตัวแบบ (Model) เป็นอย่างไรจึงจะนำไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับการบริหารของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง

โดยมีคำถามย่อยจากคำถามหลักในการวิจัยว่า
1) ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors : KSFs) หรือความสามารถ(Competencies) อะไรที่จะมีในองค์ประกอบของตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่สอดคล้องสำหรับบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง
2)ดัชนีบ่งชี้ (Indicators) ในปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถอะไรที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสำหรับ บริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

ผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ดังนี้
1)สร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ที่จะใช้อธิบายความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย

2) พัฒนาปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถ ที่มีดัชนีบ่งชี้ปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถที่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับองค์ประกอบหลักในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา

3) นำเสนอวิธีการหรือแนวทางนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่สร้างและพัฒนาขึ้นไปสู่การปฏิบัติจนกระทั่งมีแนวทางการพัฒนาธุรกิจไทยให้เป็นองค์การที่จัด
การความรู้ (Knowledge Management Organization)

ขอบเขตของการศึกษา

ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการวิจัยไว้ 3 ขอบเขตด้วยกันคือ 1. ขอบเขตเนื้อหา 2. ขอบเขตผู้ให้ข้อมูล และ 3. ขอบเขตระยะเวลา โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ขอบเขตเนื้อหา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study)เพื่อสร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่จะใช้อธิบายความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย พร้อมปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถที่มีดัชนีบ่งชี้ที่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับองค์ประกอบหลักในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา

2. ขอบเขตผู้ให้ข้อมูล ผู้วิจัยได้กำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาไว้ดังนี้
1)ประชากรในการวิจัย
การวิจัยเชิงกรณีศึกษาครั้งนี้ มีประชากรเป็นธุรกิจไทยที่ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องยางปูพื้น (PVC Vinyl Tiles) ขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ซึ่งภายใต้บริบทและวัฒนธรรมการบริหารแบบไทย อุตสาหกรรมอื่นคงไม่แตกต่างกันมากนัก
2)กลุ่มตัวอย่างของการวิจัย ผู้วิจัยได้เลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเลือกบริษัท
ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ที่มีลักษณะตามเกณฑ์ดังนี้
(1) เป็นบริษัทผู้นำตลาดหรือมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในตลาดด้านผลิตภัณฑ์กระเบื้องยางปูพื้น
(2) เป็นบริษัทที่สามารถดำเนินกิจการมาตั้งแต่เริ่มแรกและสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
(3) เป็นบริษัทที่ผู้วิจัยสามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน (Intervening Variable) และลดความคลาดเคลื่อนได้ เช่น ความร่วมมือและความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูล ความจริงจังในการตอบแบบสอบถามและการให้สัมภาษณ์ เป็นต้น
(4) เป็นบริษัทที่มีผู้ใฝ่รู้ต้องการหาคำตอบอย่างจริงจังที่สามารถทำได้ตามสภาพที่แท้จริง และนำระบบควบคุมคุณภาพ เช่น ISO 9001:2000 มาใช้ผลักดันทิศทางองค์การ พร้อมทั้งจัดทำระบบวัดผลกลยุทธ์ด้วยดัชนีวัดผลสำเร็จ (KPIs)

3) ผู้ให้ข้อมูล กรณีศึกษาในการวิจัยครั้งนี้คือ บริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างซึ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อ 6 มิถุนายน 2511 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีพนักงาน 309 คน กำลังการผลิตรวม 5 ล้านตารางเมตรต่อปี และมีคุณกนิษฐ์ สารสิน ทำหน้าที่ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป
ผู้ให้ข้อมูลในกรณีศึกษาจะเรียกว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) (Yin, 1984, 2003) ซึ่งเป็นบุคคลระดับบริหาร ประกอบด้วย ผู้จัดการทั่วไปและผู้จัดการฝ่าย รวม 6 คน และบุคคลที่เป็นระดับหัวหน้าแผนก จำนวน 20 คน รวมเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวนทั้งสิ้น 26 คน

3. ขอบเขตระยะเวลา การวิจัยในครั้งนี้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2549 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน 19 วัน

ข้อจำกัดของการวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research) โดยวิธีการที่เรียกว่า กรณีศึกษาเชิงอธิบาย (Explanatory Case Study) ซึ่งในการออกแบบการวิจัยได้จัดทำในลักษณะของ “ความเป็นไตรวิธีการ” (Triangulation) (Yin, 1984) แต่กรณี (Case) คือบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ดำเนินกิจการมา 37 ปี ทำให้การศึกษาสืบค้น (Inquiry) ในช่วงก่อตั้งกิจการจำเป็นต้องศึกษาเพียงตามข้อมูลเท่าที่ปรากฏเชิงประจักษ์ (Empirical Data)

ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์หรืออ้างอิงทั่วไป (Generali-zation) ไปยังกลุ่มประชากรอื่นๆ หากบริษัทอื่นต้องการนำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา จำเป็นต้องคำนึงถึงความแตกต่างในบริบทของบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง กับบริษัทที่จะใช้ผลด้วย

จุดยืนด้านจริยธรรมในการวิจัย

จริยธรรมในการวิจัย (Ethical Research) หรือจุดยืนด้านจริยธรรม (Ethical Standpoint) เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องให้ความตระหนักถึงอย่างยิ่งใหญ่มากโดยเฉพาะในการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
ในการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research) เป็นวิธีการหนึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยให้สัตยาบันในการทำการศึกษาครั้งนี้

1. การไม่เปิดเผย การลดความเสี่ยงหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) หรือสิ่งที่สาธารณชนและวงการวิชาการไม่มีสิทธิที่จะรู้สำหรับการศึกษาในครั้งนี้

2. การลดอคติและความรู้สึกส่วนบุคคลให้มากที่สุดของผู้วิจัยในการเก็บรวบรวมข้อมูล การแปลความและการสรุปข้อค้นพบจากการศึกษา

3. จะมีการธำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ในข้อมูลที่ศึกษาในทุกๆ ด้านเกี่ยวกับเรื่องที่
ศึกษาทั้งหมด

คำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้มีคำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัยดังนี้

1. สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) หมายถึง สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบทางกายภาพ เช่น การวิจัยและพัฒนา การโฆษณา ตราสินค้า สิทธิบัตร ความสามารถเฉพาะบุคคล แต่สามารถสร้างสิ่งที่มีคุณค่ากับบริษัท ซึ่งบริษัทไม่อาจจะควบคุมได้ทั้งหมด
2. ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital : IC) หมายถึง ความรู้ที่ปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) ให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นี้เป็นผลรวมของสิ่งต่อไปนี้ ซึ่งเรียกว่าองค์ประกอบของทุนทางปัญญาคือ
1) ทุนมนุษย์ (Human Capital) หมายถึง ความเชี่ยวชาญเฉพาะ การริเริ่ม และการเรียนรู้และจัดการความรู้ให้เพิ่มขึ้น
2) ทุนความสัมพันธ์ (Relational Capital) หมายถึง ความสัมพันธ์กับลูกค้า ผู้ร่วมค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
3) ทุนโครงสร้าง (Structural Capital) หมายถึง สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ตราสินค้า ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้า ระเบียบวิธี ซอฟท์แวร์ เอกสารและรูปแบบอื่นๆ ที่อยู่กับองค์การ

3. ความสามารถ (Competency) หมายถึง สิ่งที่บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญ ความเก่ง เช่น เทคโนโลยี การริเริ่มสิ่งใหม่หรือการบูรณาการทั้งเทคโนโลยีและการริเริ่มสิ่งใหม่ จนทำให้เกิดเป็นความแตกต่างจากคู่แข่งขันจนกระทั่งคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้ รวมถึงสิ่งที่บุคคลภายนอกรับรู้ว่าเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความสำเร็จของธุรกิจ

4. ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา (Strategic Intellectual Capital Model : SICM)
ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา (Strategic Intellectual Capital Model : SICM) หมายถึง ตัวแบบการสร้างตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาตามแนวคิดเชิงตรรก (Logical Model) ที่มีตรรกภายในตัวแบบดังนี้

ตัวแบบ (Model) เป็นการบรรยายหรือกำหนดสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับทำความเข้าใจว่า บริษัทหรือองค์การมีความรู้ที่จะเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ไปยังคุณค่าได้อย่างไร โดยจะมีคุณลักษณะหลัก เช่น 1) ความเป็นระบบ (Systematic) 2) ระบบเปิด (Open) 3) พลวัต (Dynamic) 4) มีลักษณะทำให้เหมาะได้ (Adaptive) และ 5) เป็นนวัตกรรม (Innovation)
ตรรกภายในตัวแบบ (Model of Internal Logic) เป็นความพยายามที่จะอธิบายความเชื่อมโยงหรือเป็นความอิสระพื้นฐานซึ่งมีอยู่ระหว่างทุนที่เป็นองค์ประกอบของตัวแบบ
ภาพที่ 1 แนวคิดเชิงตรรกของ SICM


ดังนั้นตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาหรือ SICM จึงเป็นเครื่องมือการจัดการธุรกิจที่สามารถใช้เพื่อพัฒนาและกำกับติดตามว่า บริษัทได้มีวิธีดำเนินการในการใช้ความสามารถและทรัพยากรความรู้ที่มีอยู่เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น โดย SICM จะประกอบด้วย
1) องค์ประกอบหลักอย่างน้อย 3 องค์ประกอบคือ ทุนมนุษย์ ทุนความความสัมพันธ์และทุนโครงสร้าง
2) ในแต่ละองค์ประกอบหลักจะมีความสามารถ (Competencies) และดัชนีบ่งชี้ (Indicators) หรือดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indicators: KPIs) ของความสามารถในแต่ละองค์ประกอบนั้นๆ

5. กรณีศึกษา (Case Study) หมายถึง การสืบสวนเชิงประจักษ์ที่ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ร่วมสมัยภายในบริษัทที่เป็นสภาพจริงของบริษัทที่เลือกเป็นกรณี (Case)

6. ความเป็นไตรวิธีการ (Triangulation) หมายถึง การใช้แหล่งข้อมูลในการศึกษาหลายแหล่ง การใช้มุมมองหลากมิติในการแปลความชุดของข้อมูลเดียวและการใช้วิธีการหลากหลายในการวิเคราะห์และสรุปผลโดยความเป็นไตรวิธีการจะมีในหลายด้าน เช่น
1) การผสมในรูปแบบของข้อมูล (Data Triangulation) ซึ่งเป็นการใช้แหล่งของข้อมูลที่หลากหลายในการศึกษา

2) การผสมของวิธีวิทยาการ (Method Triangulation) เป็นการใช้วิธีการศึกษาข้อมูลด้วยหลากหลายวิธี เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การมีส่วนร่วมและเอกสารต่างๆ เป็นต้น
3) การผสมของทฤษฎี (Theory Triangulation) เป็นการใช้มุมมองที่ทวีคูณเพื่อแปลความชุดของข้อมูลในกรณีศึกษา
4) การผสมของผู้ศึกษา (Investigator Triangulation) เป็นการใช้ทรัพยากรผู้ให้ข้อมูลหรือผู้สืบค้นที่แตกต่างอย่างหลากหลายเพื่อการศึกษากรณีศึกษา

ประโยชน์ของการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยเห็นว่าจะก่อประโยชน์ในหลายๆ ประการที่จะนำไปสู่ความสำคัญต่อธุรกิจไทยโดยเฉพาะดังนี้
1. เป็นการพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของธุรกิจไทยในบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง ให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

2. ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาจะมีองค์ประกอบของปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors : KSFs) หรือความสามารถ (Competencies) พร้อมดัชนีบ่งชี้ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือความสามารถที่จะช่วยส่งเสริม หรือสนับสนุนความได้เปรียบในการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง

3. สามารถนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาไปพัฒนาต่อยอดความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อธุรกิจไทยที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การก้าวเป็นองค์การแห่งความรู้ 

4. ผู้ที่ศึกษาและนักปฏิบัติด้านการบริหารทุนมนุษย์หรือบริหารทรัพยากรบุคคลสามารถนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและสร้างความชัดเจนในองค์การเกี่ยวกับองค์ความรู้ในด้านทุนทางปัญญา

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
 

Create Date : 21 สิงหาคม 2549


ผลสรุปรายงานการวิจัย ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา

รายงานวิจัยเรื่อง
ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง
A Strategic Intellectual Capital Model for Thai Enterprises :
A Study of Construction Accessories Company
โดย
ดร. ดนัย เทียนพุฒ
DR. DANAI THIEANPHUT

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ที่จะใช้เป็นสิ่งอธิบายความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย โดยเป็นการวิจัยเชิงกรณีศึกษา ธุรกิจไทยที่ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องยางปูพื้นขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย มีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นกรณีในการศึกษากรณีได้สร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญารูปแบบเพื่อการทำนายที่ได้มาจากการสังเคราะห์วิสัยทัศน์ ภารกิจของบริษัทฯ ตามแนวทางของ Heng และเก็บรวบรวมข้อมูลกรณีเพื่อสร้างรูปแบบเชิงประจักษ์โดยการออกแบบโปรโตคอล และความเป็นไตรวิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูลและมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 26 คน
วิธีการวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาจากการเปรียบ-เทียบระหว่างรูปแบบเพื่อการทำนายกับรูปแบบเชิงประจักษ์โดยการสังเคราะห์หาลักษณะร่วมขององค์ประกอบหลักและย่อย การวิเคราะห์ข้ามกรณีศึกษาเพื่อยืนยันองค์ประกอบหลักและย่อยของทุนทางปัญญากับการวัดทุนทางปัญญาสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย หลังจากนั้นทำการสังเคราะห์ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของดัชนีบ่งชี้หรือ KPIs ระหว่างสแกนเดีย เนวิเกเตอร์กับดัชนีวัดผลสำเร็จตามภารกิจของบริษัทฯ

ผลการวิจัยพบว่า ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทยมี 4 องค์ประกอบหลักและย่อย พร้อมดัชนีบ่งชี้ดังนี้

1. ทุนภาวะผู้นำ ประกอบด้วย วัฒนธรรมเชิงคุณค่าและความภูมิใจในประสิทธิภาพขององค์การ
ดัชนีบ่งชี้คือ มูลค่าเพิ่ม/พนักงาน ผลสำรวจเรื่องภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ระดับการควบคุมภายในและจริยธรรม และผลกำไรต่อเป้าหมาย

2. ทุนความสัมพันธ์ ประกอบด้วย ความสัมพันธ์กับลูกค้าผู้ร่วมค้าและพนักงาน ความพึงพอใจและจงรักภักดีต่อองค์การของลูกค้า
ดัชนีบ่งชี้คือ การสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ภายนอก มูลค่าเพิ่ม/ลูกค้า มูลค่าตลาด/พนักงาน ส่วนแบ่งตลาด ความจงรักภักดีในตราสินค้า ความคาดหวังต่อการบริการลูกค้า จำนวนช่องทางจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จำนวนลูกค้าบ่นต่อว่าลดลงและเปอร์เซ็นต์การส่งคืนสินค้าลดลง

3. ทุนองค์การ ประกอบด้วย การเรียนรู้ในการผลิต คุณสมบัติเฉพาะผลิตภัณฑ์ ทรัพย์สินทางปัญญา (ตราสินค้า เครื่องหมายการค้า ซอฟท์แวร์) คุณสมบัติเฉพาะผลิตภัณฑ์ และฐานข้อมูลทางความรู้
ดัชนีบ่งชี้คือ กำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจใหม่ มูลค่ารวมของสินทรัพย์ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาในแต่ละปี การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ต้นทุนการผลิตต่อ ตรม.อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อรายการต่อปี การปรับใหม่และพัฒนาด้านต้นทุน และการปรับสู่มาตรฐานในคุณภาพอุตสาหกรรม

4. ทุนทรัพยากรบุคคล ประกอบด้วย ความเชี่ยวชาญเฉพาะ การจัดการความรู้ให้เพิ่มขึ้น
การริเริ่มและการเรียนรู้และสวัสดิการและการดูแลพนักงาน
ดัชนีบ่งชี้คือ มูลค่าเพิ่ม/พนักงาน ค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม/ค่าใช้จ่ายด้านบริหาร ค่าใช้จ่ายทั่วไปด้านการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดหาและทดแทนตำแหน่ง จำนวนครั้งในการฝึกอบรม การประเมินผลจากข้อสอบ วิธีการประเมินผลของผลตอบแทนต่างๆ การประเมินผลพนักงานและดัชนีวัดความพึงพอใจของพนักงาน

Abstract

The purpose of this research is to create and develop a Strategic Intellectual Capital Model (SICM) that explains competitive advantage within the culture of Thai enterprises. The scope of research population were small and medium Thai enterprises that produced and distributed PVC Vinyl Tiles in Thailand; therefore, the research was based on a case study protocol and triangulation with twenty-six key informants of the Construction Accessories Company.

The Method used in the case study was developed SICM from the Pattern Matching between the predicted pattern and empirically based pattern to identify common and sub-elements of Intellectual Capital (IC). A cross-case analysis was used to ensure external validity. In addition, a meta-indicator analysis was used to confirm KPIs of the SICM firm.

The results show that the SICM consisted of four elements as follow :

1.Leadership capital contains two elements that are cultural values and pride in organizational efficiency.
The indicators are value added per employees, level of ethic and internal control, result of products image survey and profit per target.

2.Relational capital contains five elements, namely customer, vendors and employees relationships, customer satisfaction and loyalty and service value retention.
The indicators are to create and develop external relations, value added per customers, market value per employees, market share, brand loyalty, expected services, increasing distribution channel per year, decreasing customer complaints and percentage of goods returned.

3.Organizational capital contains four elements, namely production learning process, intellectual property (brands, trademark, softwares), product specification, and knowledge database.
The indicators are profits from new business, total asset values, increasing new products per year, R&D investment, cost per unit on target, cost per product development per year, cost of renewal development and towards industry quality standards.

4.Human resource capital contains five elements, namely technical skills, initiation and learning, increasing knowledge management, training and development as well as, employees benefits and welfare.
The indicators are total value per employee, cost of training per administration cost, general cost of training and development, cost of recruit and replacement, amount of training time, knowledge assessment, methods of compensation evaluation, performance appraisal and employee satisfaction index.

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
Create Date : 21 สิงหาคม 2549

ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย (2) โดย ดนัย เทียนพุฒ

ก้าวที่สอง:ตกผลึกเป็นรูปแบบความคิดที่จะทำวิจัย!!!

ผู้เขียนเมื่อเริ่มที่จะจัดทำ โครงร่างการวิจัย (Research Proposal) หรือโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ ได้กลับมา ทบทวนว่า
1.เราจะเริ่มต้นเขียนโครงร่างการวิจัยจากไหนดี
สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ก็โดยการศึกษา โครงร่างการวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกของหลักสูตรอื่นของ ม.ราชภัฏสวนดุสิต เช่น DPA แต่ก็ไม่ทั้งหมดเพราะช่วงที่มีในขณะนั้นเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ
ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนคิดออกคือ
- กลับมาดูที่ชื่อเรื่องของผู้เขียนว่ามีอะไรเป็น Key Words สำคัญของโครงร่างดุษฎีนิพนธ์บ้าง เช่น “ตัวแบบ” (Model) “ยุทธศาสตร์” (Strategy) “ทุนทางปัญญา” (Intellectual Capital) และ “Case Study” หรือ “กรณีศึกษา”
- บทความที่ผู้เขียนเขียนไว้เป็น บทความประจำเทอม ซึ่งได้เขียนนำร่องไว้ก่อนและคิดว่าจะนำ มาใช้ในส่วน Literature Review ทั้งหมดนี้เป็นคุณูประการจากหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต และผ.อ.หลักสูตรการจัดการธุรกิจ (ผศ.ดร.ณัฏฐพันธ์ ) ที่ได้กำหนดไว้
- ค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research)ว่าเป็นอย่างไรบ้างโดยต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
ใน 3 ส่วนนี้ถ้าได้มีโอกาสปรึกษากับผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ที่ปรึกษา เราจะมีกรอบแนวคิดในการจัดทำโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ที่ดี

2.การวิจัยเรื่อง ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรบธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด จึงสรุปหน้าตาออกมาเป็น Proposal ดังต่อไปนี้


ก้าวที่สำคัญ:จะได้มาซึ่งกรอบความคิดในการวิจัยและวิธีดำเนินการวิจัย!!

ผู้เขียน (ผู้วิจัย) เชื่อว่าสิ่งที่เป็นความยากของนักศึกษาปริญญาเอกทุกคนคือ การทำอย่างไรให้ได้มาซึ่ง กรอบความคิดในการวิจัย (Research Framework) และวิธีดำเนินการวิจัย (Research Method) แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ขึ้นมาทันที ซึ่งผู้เขียนมีเคล็ดลับดังนี้
1. ต้องมีการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) โดยครอบคลุมคำสำคัญ (Key Words) ตามชื่อเรื่องของดุษฎีนิพนธ์ที่เราจะทำการวิจัย
- การทบทวนวรรณกรรมนี้จะช่วยในการปรับปรุงคำถามในการวิจัยหรือความสนใจในการวิจัยให้คมชัดขึ้น
- จะทำให้เห็นแนวทางว่า กรอบความคิดในการวิจัย (Research Framework) ซึ่งจะมีทั้ง กรอบความคิดทางทฤษฎี (Theoritical Framework) และกรอบความคิดในการวิจัยทางปฏิบัติ (Conceptual Framework) ได้อย่างลงตัว
2. ผู้เขียนได้ทบทวนวรรณกรรมแล้วเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัยไว้เป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ
(1) กรอบแนวคิดในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา (ตรงตามชื่อเรื่องที่เป็น Key Words เลยครับ) โดยการสังเคราะห์ให้ได้ว่า ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ควรจะมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น
“สิ่งที่เป็นคุณลักษณะหลักสำหรับตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ควรประกอบด้วย ความเป็นระบบ (Systematic) ระบบเปิด (Open) พลวัต (Dynamic) ยืดหยุ่น (Flexible) การทำให้เหมาะได้ (Adaptive) และนวัตกรรม (Innovation) (Castro; Lopez; Muina and Saez, 2004)”
(2) กรอบแนวคิดในการวิจัยตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย
ในการทบทวนทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า
1) ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่เป็นตัวแบบที่เป็นหลักการทั่วไป (General Models) เป็นตัวแบบที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรกและมักจะนิยมอ้างอิงถึงโดยเฉพาะ
ตัวแบบ “สแกนเดีย เนวิกเกเตอร์” ของเอ็ดวินส์สันและมาโลน (1997)
ผู้เขียนจึงใช้ตัวแบบ “สแกนเดีย เนวิเกเตอร์” เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย
2)การจัดประเภทของทุนทางปัญญาหรือองค์ประกอบของทุนทางปัญญา รูส์ (Roos, 1997) ได้พัฒนาระบบทุนทางปัญญาเพื่อให้สามารถจัดประเภทของทุนทางปัญญาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า “ตัวแบบกระบวนการ” (The Process Model)
ผู้เขียนจึงใช้แนวคิดการพัฒนาระบบทุนทางปัญญาตาม “ตัวแบบกระบวนการ”
1) องค์การส่วนใหญ่ที่สามารถกำหนดรูปแบบการริเริ่มจัดการทุนทางปัญญาได้จะมีสิ่งที่เป็นหัวใจหลักๆ ซึ่งเป็นตัวผลักดันการริเริ่มนี้คือ การจัดวางคุณค่าที่เหมาะสม (Bontis, 2002) และคุณค่าจะก่อรูปแบบเป็นวัฒนธรรมหลักขององค์การ (Hofstede, 2005)
ผู้เขียนจึงคำนึงถึงการพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด ในบริบทของวัฒนธรรมการบริหารแบบไทยด้วย

ดังนั้น กรอบแนวคิดในการวิจัยตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย จะเป็นดังรูป


ก้าวแห่งความสำเร็จ : วิจัยเป็นประดิษฐกรรมทางปัญญาสูงสุด !!!

ก่อนที่จะสอบโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation Proposal) ในวันที่ 16 ก.ย.2548 เวลา 13.00 น. ณ ศาลาชื่นอารมย์ ผู้เขียนได้ลองทบทวนว่า ทำอย่างจึงจะเสนอตามที่ได้มีการทบทวนวรรณกรรมมาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาสู่ กรอบแนวคิดอย่างลงตัวใน PowerPoint เพียงหนึ่งหน้าแล้วเชื่อมโยงไปสู่วิธีดำเนินการวิจัย
เชื่อหรือไม่ครับ ผู้เขียนใช้เวลาอยู่ 3 วันจึงสรุปได้อย่างลงตัวเพราะพยายามนั่งคิดหาวิธีที่จะกำหนด
-ตรรกของความคิดตามหัวข้อวิจัยของผู้เขียน
-การหารูปแบบที่จะเกิดเป็น การสรุปรวมความคิดที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ทำให้ผู้ฟังคือ คณะกรรมการสอบฯ หรือผู้สนใจเข้าใจตามเรื่องราวที่เราอธิบายอยู่
-ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งได้ให้คำแนะนำจากที่ท่านได้อ่านโครงร่างดุษฎีนิพนธ์จะช่วยเติมแต่งให้องค์ความรู้ทางวิจัยและวิชาการด้านเนื้อหาที่ดียิ่ง

สุดท้ายครับ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ จงเชื่อมั่นในตนเองและก้าวเดินไปสู่ความ-
สำเร็จ ”Dissertation Proposal” คือ เข็มทิศนำทางสู่ปริญญาการจัดการดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Management) ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่กำลังเตรียมทำหรือจะก้าวสู่บันไดขั้นนี้นะครับ!!


อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants

Create Date : 03 สิงหาคม 2549

ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย (1) โดย ดนัย เทียนพุฒ

บทเรียนที่เป็นเลิศ : การสอบโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ (ต่อ)


ก้าวแรก:ขอแนวทางจากอาจารย์ที่ปรึกษา!!!

เมื่อผู้เขียน ได้เรียนหารือ ท่านคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (รศ.ดร.พยอม วงศ์สารศรี) ขอเชิญท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ด้วยหลายๆ ปัจจัยจาก
1) ดุษฎีนิพนธ์ของผู้เขียนเกี่ยวกับ “ตัวแบบทุนทางปัญญา” (Intellectual Capital Model) เป็นเรื่องที่ยังถือว่าใหม่มากในเมืองไทย หาผู้รู้และเชี่ยวชาญค่อนข้างยาก
2) ผู้เขียนได้เลือกการศึกษาในลักษณะ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Quantitative Re-search) โดยใช้กลยุทธการวิจัย (Research Strategy) ในรูปแบบการวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research) จึงอยากได้ผู้ที่เชี่ยวชาญทางการวิจัยและเปิดกว้างในการวิจัยใหม่ๆ ที่ไม่อยู่ในกรอบของการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)
3) ผู้เขียนเลือกที่จะนำเสนอดุษฎีนิพนธ์แบบฟรีสไตล์ (Unformated Research Style) แต่ตอบสิ่งที่เป็นสาระสำคัญในการวิจัยได้ครบถ้วน เช่น คำถามในการวิจัย วัตถุประสงค์ของการวิจัย กรอบแนวคิดในการวิจัย ระเบียบวิธีวิจัย เป็นต้น
ท่านอาจารย์ที่ปรึกษาได้ให้คำแนะนำในการจัดทำโครงร่างการวิจัย (Research Proposal) หรือโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ ในรูปแบบของการจัดทำเต็มรูป ถ้านึกถึงรูปแบบตาม Format ก็คือ บทที่ 1-3 โดยประกอบด้วย

บทนำ : บทที่ 1
-ความสำคัญของการศึกษา
-ความสนใจในการวิจัย/คำถามการวิจัย
-สมมติฐานการวิจัย (ถ้ามี)
-วัตถุประสงค์ของการวิจัย
-ขอบเขตการวิจัย
-ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
-นิยามศัพท์เฉพาะ

บทที่ 2 : วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
-วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
-งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
-กรอบแนวคิดในการวิจัย

บทที่ 3 : วิธีดำเนินการวิจัย
-ระเบียบวิธีวิจัย


ประเด็นที่เกิดเป็นคำถามของผู้เขียน คือ จะเริ่มยังไงดีล่ะครับ!

อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants


Create Date : 03 สิงหาคม 2549

ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย โดย ดนัย เทียนพุฒ

บทเรียนที่เป็นเลิศ : การสอบโครงร่างดุษฎีนิพนธ์

เรื่อง ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด

A Strategic Intellectual Capital Model for Thai Enterprises : A Study of Construction Accessories Co., Ltd.

โดยนาย ดนัย เทียนพุฒ
นักศึกษาปริญญาเอกการจัดการธุรกิจ รุ่นที่ 2 กลุ่ม 2
หลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต



>บทเรียนที่เป็นเลิศ : การสอบโครงร่างดุษฎีนิพนธ์
เรื่องตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด


การเรียนในระดับดุษฎีบัณฑิตหรือที่มักเรียกกันว่า เรียนปริญญาเอกหรือด๊อกเตอร์นั้น มีความยากง่ายในแต่ละช่วงที่แตกต่างกัน แต่รวมความแล้วก็ไม่ได้ “ง่ายๆ” อย่างที่คิดกันก่อนจะมาเข้าเรียนหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต โดยเฉพาะสาขาการจัดการธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นความสำคัญและมีความสนใจเพราะมีทุนเดิมที่ทำงานในการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ก็อาจจะเบาหรือสบายขึ้นมานิดหน่อย

หัวใจที่สำคัญในการเรียนระดับนี้จึงมุ่งไปที่ การจัดทำดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation) วันที่ผู้เขียนขึ้นสอบ หัวข้อดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation Topic) เมื่อ 5 เมษายน 2548 ถือเป็นก้าวย่างแรกที่จะเดินไปสู่ก้าวที่ใหญ่กว่าและเมื่อผ่านการสอบหัวข้อเป็นที่เรียบร้อย โดยมาสรุปลงตัวตามคำชี้แนะและความเห็นของคณะกรรมการสอบหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ หลังจากสอบผ่านหัวข้อดุษฎีนิพนธ์แล้ว ก็ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาและดูงานที่ UC Berkely และอีกหลายๆ ที่ทั้ง Disneyland, Hollywood, บริษัท Oracle สหรัฐอเมริกา ทำให้ปลอดโปร่งและมีเวลามานั่งคิดว่า
“เราจะทำ “โครงร่างดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation Proposal) อย่างไร”


อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants
Create Date : 03 สิงหาคม 2549

สนใจทำวิจัยเชิงคุณภาพ...มาทางนี้




เนื่องจาก มี นศ. หลาย ๆ ท่านที่สนใจในการทำวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา และ ผมเห็นว่าการวิจัยในลักษณะที่ต้องการศึกษา ที่เป็นสภาพความจริงในธุรกิจ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดย เฉพาะ Case Study Research ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพมีความน่าสนใจมาก ผมจึงนำความรู้เรื่องนี้มาสรุปย่อให้ไว้เป็นแนวทาง











ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
Managing Director

โครงสร้างการจัดทำ Dissertation /Thesis Roadmap

เป้าหมายของทุกคนในการเข้ามาสู่การศึกษาระดับการจัดการดุษฎีบัณฑิต คือภายใน 3 ปีจะต้องก้าวออกไปจากรั้ว "ม.ราชภัฎสวนดุสิต" พร้อมปริญญา Doctor of Management -Major Business Management

จากวันแรกในเดือน พค.47 จนถึง กย. 47
ผมคิดว่า เราได้มีการพุดคุยอย่างไม่เป็นทางการในเรื่อง Dissertation จนกระทั่งมีรูปแบบที่เป็นทางการมาพอประมาณ(แม้ว่าเพื่อน DM2/2 บางท่านยังมีความกังวลอยู่)

ในวันที่ 11 กย 47 เราได้มีการสรุปในกลุ่มถึง ประเด็นการศึกษา/ความสนใจในการจัดทำ Dissertation Roadmap ที่ลงตัวมากที่สุด
โดยโครงสร้างการจัดทำ Dissertation Roadmap ในกลุ่มน่าจะเป็นดังนี้

1.กลุ่มความสนใจด้าน HR/Knowledge Organization
Areas: Human Resource
Human Capital
Knowledge Capital
Intellectual Capital
Career Development +OD
HRD
HR Scorecard
2.กลุ่ทความสนใจด้าน Marketing
Areas: Mkt Strategy
Mkt Mixed
Brand Building
Products Strategy & Development
Below the line Mkt
Distribution Channel
CRM / IMC /TIM
PR & ADs
Mkt Research
3.กลุ่มความสนใจด้าน A/C -F/N
Areas: 3D Bugeting
ABC
EVA
ROI
Venture Capital
Financial Engineering
Risk Mgt
4.กลุ่มความสนใจด้าน การจัดการ & ธุรกิจ
Areas: Competitiveness of Nation /Business
Theory of Innovation
Business Strategy-BSC / Blue Ocean
Change Management
Process Control
Productivity
e-Business
Core Competency

สิ่งที่เราจะเดินต่อไปเมื่อรู้ว่ามีกลุ่มความสนใจแล้วคือการเตรียมตัวเตรียมใจในอนาคตที่จะมาถึงคือ

Step 1:เลือก Area ที่จะเข้าไปศึกษา

วิธีการเลือก
1) เป็นเรื่องที่เราสนใจมาก ๆ และเชื่อว่าเราจะ "Go Ahead" ได้ตลอด 3 ปี
2)เป็นสิ่ง/เรื่อง หรือ ขอบเขตที่เรามีพื้นฐานในด้านต่อไปนี้ เช่น
-การทำงาน/ธุรกิจ
-การศึกษาทั้ง ป.ตรี ป.โท
3)พอจะรู้ แหล่งข้อมูล หรือ ใครเชี่ยวชาญ

Step 2: เมื่อได้ Area แล้วจงลงลึก " In Depth" ในเรื่องนั้น

วิธีการที่จะลงลึก
1) บทความประจำภาคเรียนให้เขียนลงในเรื่องที่สนใจ
2)พยายามอ่าน/เขียนโดยศึกษาจาก
-Theory
-Research/Dissertation
3)เราจะพบเรื่องที่จะทำวิจัยได้ไม่ยากนัก

Step 3 : "All for One , One for All "
ผมเชื่อว่าทุกคนไม่อยากบอกว่าตนเองทำเรื่องอะไร
เพราะกลัวถูกแย่งชิงหัวข้อ Dissertation

ความจริง !!!
1) ถ้าเราคิดว่า เราเป็นเพื่อนกันจริงขอให้ยึดหลักข้างตน การร่วมกันศึกษาจะประหยัดเวลา ยกเว้นว่าคนละเรื่องกันจริง ๆ
2) การที่ใครบอกว่าจะทำเรื่องอะไรเท่ากับลงทะเบียนในความคิดของทุกคนแล้ว
3) การแลกเปลี่ยนเรื่องที่จะทำจะมีประโยชน์ดังนี้

@ เพื่อน ๆ ที่คิดจะทำเรื่องเดียวกันจะได้คุยกันว่าซ้ำหรือไม่ จะได้ไม่เสียเวลา
@ ความสนใจจริง ๆ ที่แท้แล้วเป็นลักษณะ " Breadth" ถ้ายังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ
@ องค์ความรู้ทั้ง 4 กลุ่มที่เราจะพิจารณามีขอบเขตมากพอสำหรับทุกคนครับ

There are many areas of Dissertation:
-Theoretical areas
-Methodology & Content areas
-Practical areas

ดังนั้น อย่าไปกลัวเลยครับว่าเรื่องจะซ้ำกัน หรือ บอกเพื่อนไม่ได้

Step 4 : บูรณาการความคิด
จงจำไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่ท่านสนใจอยากทำ (สนใจคือมีพื้นฐานทางความรู้ หรือ ประสบการณ์ )
ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นอยากทำโดยให้ท่านทำ แม้จะเป็นไปได้แต่ท่านต้องสนใจจริง ๆ

เมื่อก้าวเข้ามาแล้วต้องมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินต่อไป
เขียนบทความในทิศทางของ Dissertation เท่านั้นครับ อย่าวอกแวก !!!
ท้อได้ แต่อย่าหมดกำลังใจ ครับบบบบบบบบบบบบ

เมื่อใดที่ท่านหมดกำลังใจ ขอให้นึกว่ายังมีผมอยู่อีกคนที่คอยช่วย และให้กำลังใจกับทุกท่าน แต่สุดท้าย "Dissertation" ท่านเท่านั้นละครับที่จะเป็นผู้เขียนความรู้ใหม่ใน "Business Management"

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
 วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2550

จะทำ Thesis และ Dissertation ให้สำเร็จได้อย่างไร

การเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา ไม่ว่าจะเป็นปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก
สิ่งที่เป็นปัญหาคาใจและไม่สามารถดำเนินไปได้จนสำเร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือ
ยากมากที่จะลงตัวทำให้ได้ทั้งการหาหัวข้อการวิจัยการจัดทำProposal
การออกแบบวิธีการวิจัยฯลฯและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดทำดุษฎีนิพนธ์ยิ่งยากไปกว่า
วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท
ดร.ดนัย เทียนพุฒ จะได้เล่าและให้แนวทางการทำใน The Business-Knowledge Management(KM) Thailand ที่นี่ครับ

คำถามหรือประเด็นที่ชอบพูดกันมากที่สุดเมื่อเข้ามาเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา
คงนี้ไม่พ้นจะถามเกี่ยวกับการวิจัย เช่น
- จะทำวิจัยเรื่องอะไร ?
-ได้หัวข้อวิจัยหรือยัง ?
-มีความสนใจในเรื่องอะไรอยู่ละ ?
ยิ่งในกรณีที่ต้องส่ง Proposal มาก่อนตอนสมัครเข้าเรียนโดยเฉพาะระดับ ป.เอก ด้วยแล้ว
พอเข้ามาก็-อยากจะเปลียนบ้าง - มีความสนใจใหม่ -เรื่องที่เสนอไว้เดิมยังมองไม่ชัดนักว่าจะทำอย่างไร ?-ไม่รู้จะเริ่มที่ไหนดี หรือ ใครจะมีคำตอบให้บ้าง ?ฯลฯ
เอาเป็นว่า "จะหาหัวข้อวิจัยให้โดนใจได้อย่างไร ?"จะเล่าให้ฟังเลยครับ

อย่างไรจึงจะเรียกว่า "หัวข้อวิจัย"
ลองพิจารณาข้อความต่อไปนี้
-ความสนใจของผู้วิจัยในเรื่อง "Event Marketing"
-การศึกษาจุดกำเหนิดของคลัสเตอร์ธุรกิจ (Business Cluster) ในประเทศญีปุ่นเพื่อนำมาปรับในใช้ประเทศอาเซียน
-วิธีการเก็บรวบรวมขัอมูลด้วยเทคนิคโฟกัสกรุ๊ป (Focus Group Technic)
-การจัดทำโมเดลวิเคราะห์สาเหตุเชิงโครงสร้างที่เป็นองค์ประกอบในวิสัยทัศน์ธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เกี่ยวกับการจัดทำ Dissertation ของนักศึกษาปริญญาเอกโปรแกรมการจัดการธุรกิจ
-ผลการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนรากหญ้าพบว่า "เน่า"
-เกิดรูปแบบความรู้ที่แท้จริงในการจัดการความรู้ (KM) ของเครือข่ายชุมชนในประเทศไทยจริงหรือ

หากใครสามารถตอบได้ว่า
1.อันไหนเป็นหัวข้อการวิจัย
2.อันไหนเป็นแค่ความสนใจของผู้ที่กำลังศึกษา
3.ไม่ใช่ทั้ง 1. และ 2.
ถ้าจะตอบคำถามให้ได้ว่า "อะไรคือ หัวข้อวิจัย"
1.ต้องรู้ก่อนว่า การวิจัยคืออะไรการวิจัย คือ การแสวงหาข้อความรู้หรือ
ข้อความจริงของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติหรือธุรกิจ (ในกรณีด้านการจัดการธุรกิจ)
2.มีเกณฑ์อะไรจึงบอกได้ว่าเป็นการวิจัยที่ดี
-มีความใหม่(Original)
-มีความคิดริเริ่ม(Initiative)
-มีความเป็นปรนัย(Objectivity)
-เป็นการแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ(Systematic)
-เป็นความรู้ทั่วไป(Generalize)
3.ในหัวข้อวิจัย บอกอะไรให้คนอื่นรู้/ผู้ทำวิจัยรู้บอก
1).ความสัมพันธ์ของตัวแปร
2).ตัวอย่าง/ประชากรในการวิจัย
3).ความลุ่มลึกของการวิจัยที่มาอย่างแท้จริงของ Research Topic
-Best Practices
-Academic School
-Professional

ถ้าจะว่าไปแล้วแหล่งที่ดีที่สุดของการหาหัวข้อวิจัยคือ"การทบทวนวรรณกรรม (Literature Review)"
มาจากไหนก็
-ค้นจากอินเตอร์เน็ต เช่นสุดยอดข้อมูลจากกูเกิ้ล
-อ่านวารสารระดับโลก ในสาขาหรือเรื่องที่ท่านสนใจ
-อ่านงานวิจัยจากวารสารระดับโลก พร้อมทั้งดูว่ามีข้อแนะนำที่ให้ทำวิจัยอะไรต่อ
-ถามหรือสนทนากับบรรดาสุดยอดผู้รู้ในสาขานั้น ๆนี่ละครับ คือแหล่งที่ท่านจะได้หัวข้อวิจัย

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

นำมาจาก :http://thekmthailand.blogspot.com/2007/03/thesis-dissertation.html

วิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจ(3)

วิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจ


การวิจัยทางธุรกิจตามรูปที่ 3 จะเริ่มต้นจากโจทย์หรือปัญหาด้านการจัดการหรือ
ธุรกิจแล้วนำไปสู่การนิยามคำถามการจัดการ หลังจากนั้นจึงเป็นคำถามการวิจัยที่นักวิจัยมุ่งแสวงหาคำตอบ จากคำถามการวิจัยจึงนำไปสู่วัตถุประสงค์ของการวิจัย และคาดคะเนคำตอบที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย ซึ่งหมายถึงสมมติฐานของการวิจัย ถ้าสมมติฐานเป็นจริงขั้นตอนต่อมาคือ การออกแบบการวิจัยซึ่งประกอบด้วยการคัดเลือกหรือกำหนดวิธีวิทยาการวิจัยที่เหมาะสม การออกแบบการสุ่มตัวอย่าง การออกแบบการวัดตัวแปร และการออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งมีทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ ความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูลจึงนำไปสู่การตอบปัญหาวิจัย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลนำไปสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับข้อความรู้หรือผลวิจัย







การวิจัยทางธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในทุกขั้นตอน ดังนั้นความรู้จากการวิจัยที่ได้รับจะเป็นข้อความรู้เฉพาะกฏ หรือทฤษฎี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางการจัดการ และนำไปสู่เป้าหมายระยะยาวของการวิจัยทางธุรกิจคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ การเป็นองค์การแห่งความรู้ (Knowledge-Based Organization) และทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) คุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนในศาสตร์ด้านการจัดการธุรกิจ

1.วิสัยทัศน์การวิจัย
คำว่า วิสัยทัศน์ (Vision) จะหมายถึง ภาพอนาคตหรือทิศทางในอนาคตที่ต้อง การจะไปให้ถึง ส่วนการวิจัย (Research) เป็นกระบวนการที่ใช้เหตุผลแสวงหาข้อเท็จจริงหรือกฏเกณฑ์ของธรรมชาติหรือการสร้างองค์ความรู้ด้วยวิธีการที่มีแบบแผนเป็นระบบเชื่อถือได้

ดังนั้น วิสัยทัศน์การวิจัยจึงเป็นเรื่องของอนาคตหรือทิศทางในอนาคตของการวิจัยหรือเป้าหมายในระยะยาวของการวิจัย ซึ่งในรูปที่ 3 ได้ให้ภาพอนาคตของการวิจัยด้านการจัดการธุรกิจไว้เป็นตัวอย่างหนึ่งตัวอย่างด้วยแล้ว

2.วิสัยทัศน์การวิจัยด้านการจัดการธุรกิจ
วิทยาการที่จะเป็นศาสตร์แห่งวิชาชีพ หรือศาสตร์ด้านการจัดการธุรกิจ จะต้องมีองค์ประกอบหลักคือ องค์ความรู้ (Body of Knowledge) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (Terminology)และวิธีการแสวงหาความรู้ (Modes of Inquiry)

การจัดการธุรกิจมีความเป็นศาสตร์อย่างสมบูรณ์ เพราะมีองค์ประกอบข้างต้นครบถ้วน อาทิ
ศัพท์เฉพาะศาสตร์ เช่น วัตถุประสงค์ (Objective) การวางแผน (Planning) กลยุทธ (Strategy) สายบังคับบัญชา (Line of Command) การประเมินผลงาน (Performance Appraisal)
องค์ความรู้ทางการจัดการ เช่น การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Managing Change) การจัดการกลยุทธ (Strategic Management) ทฤษฎีการจัดการ (The Theory of Management) ทฤษฎีเอ็กซ์และทฤษฎีวาย (Theory X and Theory Y)
วิธีการแสวงหาความรู้ หมายถึง วิธีวิทยาการจัดการซึ่งเป็นกระบวนการศึกษา การบรรยาย การอธิบาย และการให้ความกระจ่างชัดของแต่ละเทคนิควิธีการจัดการ ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเทคนิควิธีการจัดการ
วิสัยทัศน์การวิจัยด้านการจัดการธุรกิจ จึงต้องมุ่งวิจัยเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจขึ้นมาตอบสนองต่อสังคมไทยได้ เพราะพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมในสังคมไทยไม่สามารถอิงองค์ความรู้จากสังคมอื่นมาอ้างอิงหรือใช้สอยได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งนี้ก็คือความสามารถในการสร้างความเป็นไททางวิชาการจัดการธุรกิจให้มีขึ้นในสังคมไทย

3.วิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจ
วิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจจึงเป็นการวิจัยผลิตความรู้เพื่อสร้าง
ความก้าวหน้าใน 3 ทิศทางด้วยกันคือ
3.1 วิจัยเพื่อให้สามารถนำความรู้มาถ่ายทอดโดยผ่านกระบวนการวิจัย อาจ
จะมุ่งไปที่ศาสตร์สากล (ศาสตร์ หมายถึง ระเบียบวิธีวิเคราะห์ที่เป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผลและเป็นปรนัยที่จะบรรยาย อธิบาย และทำนายปรากฏการณ์ที่สามารถสังเกตได้) เพื่อสร้างพื้นฐานให้สามารถติดตามความก้าวหน้าทางการจัดการธุรกิจได้ และทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ทางการจัดการธุรกิจที่เป็นพื้นฐานตามความสนใจส่วนบุคคลหรือองค์กร ซึ่งเป็นการสร้างความพร้อมเพื่ออนาคต
3.2 การวิจัยที่มุ่งผลิตความรู้เพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจ หมายถึงการวิจัยที่มุ่งศาสตร์เฉพาะกรณีโดยยึดปัญหาเป็นหลัก ข้อความรู้ที่ได้จะเป็นเรื่องของธุรกิจในประเทศไทยการวิจัยในทิศทางนี้ อาจต้องทำในลักษณะสหวิทยาการ (Multidisciplinary/
Interdisciplinary Research) เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาเดียวกัน

ผลการวิจัยในทิศทางนี้จะได้ความรู้ที่อาจเห็นผลในทางประยุกต์ได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะ
3.3 การวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นการวิจัยอีกระดับหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการเท่านั้น แต่ยังหวังการก้าวกระโดดที่ล้ำหน้าในด้านนี้ที่ยังไม่มีใครทำอยู่และหากไม่มีการคิดวิจัยในทิศทางนี้ อนาคตก็ไม่มีทางที่จะก้าวทันวิทยาการสากลได้ดังกรณีตัวอย่างที่ยกมาทั้ง 3 ตัวอย่างข้างต้น

โดยสรุปบทความเรื่องวิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจ เป็นมโนทัศน์ของการใช้การวิจัยเพื่อมองคำตอบในอนาคตเกี่ยวกับ วิธีวิทยาการด้านการจัดการธุรกิจ (Business Management Methodology) และเนื้อหาด้านการจัดการ (The Contents of Business Management) ซึ่งยังมีรายละเอียดในทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมานี้อีกมาก และจะมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีการจัดการธุรกิจ (The Theory of Business Management) ในอนาคตที่สอดคล้องกับสังคมไทย


เอกสารอ้างอิง

จรัส สุวรรณเวลา. (2532) "แผนภาพที่ 1 การวิจัยคือ อะไร" ในสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ การสอนแบบ
Research Based Learning. วารสารวิธีวิทยาการวิจัย. 6(1) 4.

ดนัย เทียนพุฒ. (2542). "วิสัยทัศน์งานวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศ". Chulalongkorn Review.
12 (45) ต.ค.-ธ.ค. 9-20.

ดนัย เทียนพุฒ. (2546). ธุรกิจของ HR (2): พลวัตการบริหารคน. กรุงเทพมหานคร : โครงการ Human Capital.

ธีระ อาชวเมธี. (2521). ปรัชญาจิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์

ศิริชัย กาญจนวาสี. (2537) ทฤษฎีการประเมิน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร :จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สมหวัง พิธิยานุวัฒน์. (2523). "สมมติฐานในการวิจัย". ใน เอกสารประกอบการศึกษาหลักสูตร
ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ รุ่นที่ 1 วันที่ 15-19 เมษายน 2523 สมาคมวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อัดสำเนา).

สมหวัง พิธิยานุวัฒน์. (2540). "การประเมินผลการปฏิบัติงานวิจัย". วารสารวิธีวิทยาการวิจัย.
10 (2) ก.ค.-ธ.ค. 2-18.

สมหวัง พิธิยานุวัฒน์. (2541). วิธีวิทยาการประเมินทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Cloke, K. and Goldsmith, J. (2002). The End of Management. NY : John Wiley and Sons

Cooper, D.R. and Schindler, P.S. (2003). Business Research Methods. Eighth Edition.
Singapore : McGraw-Hill/Irwin.

Crainer, S. (1996). Key Management Ideas. London : Pitman Publishing.

Creswell, J.W. (2003). Research Design. Second Edition, California : Sage .

Drucker, P.F. (1998). Peter Drucker on the Profession of Management. MA : Harvard
Business School .

Drucker, P.F. (1999). Management Challenges for the 21st Century. NY : Harper Collins.

Hornby, A.S., Gatenby E.V. and Wakefield H. (1963). The Advanced Learner's
Dictionary of Current English. Second Edition. London : Oxford University.

Kaplan, R.S. and Norton, D.P. (1992). "The Balanced Scorecard-Measures That Drive
Performance". Harvard Business Review. Jan-Feb.

Kaplan, R.S. and Norton, D.P. (1993). "Putting The Balanced Scorecard to Work"
Harvard Business Review. Sep-Oct.

Kaplan, R.S. and Norton, D.P. (1996). The Balanced Scorecard : Translating Strategy
into Action. Boston : Harvard Business School.

Kaplan, R.S. and Norton, D.P. (2001). The Strategy-Focused Organization : How
Balanced Scorecard Companies Thrive in the New Business Environment.
Boston : Harvard Business School.

Kaplan, R.S. and Norton, D.P. (2004). Strategy Maps. Bonton : Harvard Business
School.


Kennedy, C. (1991). Guide to the Management Gurus. London : Business Books.

Kerlinger, F.N. (1986). Foundations of Behavioral Research. Third Edition. Florida :
Harcourt Brace Jovanovich College.

อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants


Create Date : 15 มิถุนายน 2549

วิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจ(2)

การวิจัยสร้างความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ

สิ่งที่ผู้พบเห็นในประสบการณ์ตรงจากธุรกิจในประเทศไทยด้านการศึกษาพัฒนา ความรู้ การประยุกต์เครื่องมือและกลยุทธใหม่ทางธุรกิจที่พอประมวลเป็นข้อมูลเบื้องต้นได้ 2-3 ประการคือ
1) ผู้ที่เสนอเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาก่อนหรือไม่ก็มีผลงานด้านการศึกษาในเรื่องนั้นมาเป็นพื้นฐาน
2) ผู้ที่เสนอเลือกที่จะเผยแพร่แนวคิดให้กว้างโดยผ่านทั้งวารสารวิชาการชั้นนำ
เช่น Harvard Business Review, Sloan Management หรือมีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ทั่วทุกมุมโลกและมีการสัมมนา บรรยาย รวมถึงเวบไซต์รองรับ
3) ที่น่าสนใจมากๆ คือ เป็นแนวคิดที่ใหม่ในขณะนั้นและมีการพัฒนาต่อยอดความรู้ หรือพัฒนาเครื่องมือและกลยุทธใหม่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ดังนั้น องค์การ ผู้บริหารธุรกิจระดับสูง ผู้บริหารในทุกตำแหน่งและผู้ประกอบการ รวมทั้งสถาบันการศึกษาด้านการจัดการธุรกิจ โซลูชั่นที่เป็นคำตอบน่าจะอยู่ที่ การพัฒนาต่อยอดความรู้ เครื่องมือ และกลยุทธใหม่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการที่จะไปสู่โซลูชั่นนี้ได้คือ การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยเฉพาะการวิจัยทางธุรกิจ (Business Research) หรือวิจัยทางด้านการจัดการ (Management Research)

1.ทฤษฎีด้านการจัดการ (Management Theory)
การศึกษาเรื่องการจัดการ (Management) กับการจัดการธุรกิจ (Business Management) จะมีการศึกษาในขอบเขตเดียวกันหรือศึกษาเรื่องธุรกิจ (Business) โดยตรง
ดรักเกอร์ (Drucker, 1994; 1998) ได้สรุป “ทฤษฎีของธุรกิจ” (The Theory of Business) ว่ามีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกันดังต่อไปนี้
“ A Theory of the business has three parts.
First, There are assumptions about the environment of the organization : society and its structure, the market, the customers, and technology.
Second, There are assumptions about the specific mission of the organization.
Third, There are assumptions about the core competencies needed to accomplish the organization’s mission”

ขอถอดเพื่อความเข้าใจดังนี้
1)มีข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมขององค์การ เช่น
สังคมและโครงสร้าง การตลาด ลูกค้าและเทคโนโลยี
2)มีข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับภารกิจที่เฉพาะเจาะจงขององค์การ
3)มีข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับความสามารถหลักของธุรกิจ (Core Competencies) ที่จำเป็นต่อความสำเร็จของภารกิจองค์การ

และลักษณะของทฤษฎีทางธุรกิจที่แม่นตรงหรือสมเหตุสมผลจะมีคุณลักษณะเฉพาะอยู่ 4 องค์ประกอบคือ
1)ข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภารกิจ และความสามารถหลักของธุรกิจต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง
2)ข้อตกลงเบื้องต้นให้ทั้ง 3 ขอบเขตต้องสอดคล้องซึ่งกันและกัน
3)ทฤษฎีของธุรกิจต้องเป็นที่รู้จักและเข้าใจโดยตลอดองค์การ
4)ทฤษฎีของธุรกิจต้องได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
และจากหนังสือ “Management Challenges for the 21st Century”

ดรักเกอร์ (Drucker, 199) ได้ตั้งพาราไดม์ใหม่ของการจัดการ (New Management Paradigm) ไว้ว่า
“การจัดการจะสนใจและเป็นความรับผิดชอบในทุกๆ สิ่งที่มีผลต่อผลงานของสถาบันและผลลัพธ์ที่มีทั้งภายในหรือภายนอก ภายใต้การควบคุมของสถาบันหรือที่เหนือกว่า”

2.การสร้างทฤษฎีด้านการจัดการ (Management Theory Development) ศาสตร์ (Science) ของแต่ละสาขาวิชาจะมีการพัฒนาจนเป็นวิชาชีพ ย่อมมีการ
ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัยสร้างองค์ความรู้ (Body of Knowledge) ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ “ทฤษฎี” (Theory) เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการสร้างองค์ความรู้ทั่วไปของศาสตร์ในสาขาวิชานั้นๆ

ขณะเดียวกันทฤษฎียังเป็นหัวใจของการศึกษาและพัฒนา หรือหักล้างและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ให้ศาสตร์ในสาขาวิชานั้นแตกแขนงองค์ความรู้ออกได้อย่างมากมาย

สรุปแล้วศาสตร์ทุกสาขาจะประกอบด้วย (1) องค์ความรู้ (Body of Knowledge) (2) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (Terminology) และ (3) วิธีการแสวงหาความรู้ (Modes of Inquiry) (สมหวัง พิธิยานุวัฒน์, 2540)

ดังนั้นศาสตร์ด้านการจัดการจึงได้มาจาก การวิจัยด้านการจัดการที่ครบทั้ง 3 องค์ประกอบคือ องค์ความรู้ด้านการจัดการ ศัพท์เฉพาะด้านการจัดการ และวิธีการแสวงหาความรู้ด้านการจัดการ รวมถึงจะเกี่ยวข้องกับการวิจัยเพื่อแสวงหาความรู้โดยมุ่งเน้นใน “วิธีวิทยา” (Methodology of Theory) และ “เนื้อหา” (Contents of Theory) ซึ่งจะทำให้องค์การสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้

2.1ทฤษฎีคืออะไร
การให้ความหมายของทฤษฎีในปัจจุบัน จะหยิบยกมาจากพจนานุกรม หรือตำราทางการวิจัยเป็นหลัก อาทิ
The Advanced Learner’s Dictionary of Current English (Hornby, Gatenby and Wakefield, 1973) อธิบายว่า ทฤษฎีเป็นการอธิบายหลักการทั่วไปของศิลป์ หรือศาสตร์

ธีระ อาชวเมธี (2521) อธิบายทฤษฎีไว้ดังนี้
คำว่า “ทฤษฎี” หรือ “Theory” มาจากคำภาษากรีกเดิมว่า “Theoria” ซึ่งแปลว่า การมองดู (a looking at คงหมายถึงการมองดูทางจิตหรือ Mental Viewing) การคิดดู (Contemplation) หรือการเดาดู (Speculation)

เคอร์ลิงเจอร์ (Kerlinger,1983) ได้ให้นิยามและธรรมชาติของทฤษฎีไว้ดังนี้
“ A Theory is a set of interrelated constructs (concepts) definitions, and propositions that present a systematic view of phenomena by specifying relations among variables, with the purpose of explaining and predicting the phenomena”

ขอถอดความเพื่อความเข้าใจดังนี้
ทฤษฎีคือ ชุดของความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ นิยามและข้อเสนอที่มองปรากฏการณ์อย่างเป็นระบบจากตัวแปรที่มีความสัมพันธ์ โดยเฉพาะระหว่างกันด้วยจุดประสงค์เพื่อการอธิบายและทำนายปรากฏการณ์และในนิยามนี้จะประกอบด้วย 3 สิ่งคือ
(1)ทฤษฎีเป็นชุดของข้อเสนอที่ประกอบจากนิยามและความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ (โครงสร้าง)
(2)ทฤษฎีเริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างกันของชุดตัวแปร (โครงสร้าง) และดำเนินการนำเสนอการบรรยายตัวแปรต่างๆ ในปรากฏการณ์อย่างเป็นระบบ
(3)ทฤษฎีอธิบายปรากฏการณ์

สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ (2523) อธิบายทฤษฎีตามแนวคิดของ Campell ไว้ว่า
“ทฤษฎี เป็นข้อความชุดหนึ่งที่ต่อเนื่องกันซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ข้อความกลุ่มแรกเกี่ยวกับความคิดบางอย่างซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของทฤษฎี ข้อความกลุ่มที่สอง เป็นข้อความแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกังกล่าวกับความคิดอ่านซึ่งมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง เราเรียกข้อความในกลุ่มแรกรวมกันว่าเป็น”สมมติฐาน” (Hypothesis) ของทฤษฎีและข้อความกลุ่มที่สองว่า “พจนานุกรม” (Dictionary)”

ศิริชัย กาญจนวาสี (2537) สรุปคำว่า ทฤษฎี ไว้ดังนี้
“ทฤษฎี เป็นข้อความนัยทั่วไปที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการหรือมโนทัศน์ที่สามารถใช้ทำความเข้าใจ บรรยาย อธิบายหรือทำนายปรากฏการณ์เฉพาะต่างๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล” และธรรมชาติของทฤษฎีจะมีสิ่งสำคัญพอสรุปได้ 3 อย่างคือ (1) ทฤษฎีเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาอย่างสมเหตุสมผล (2) ทฤษฎีเป็นภาพความคิดโดยทั่วไปที่สามารถใช้อธิบายในสถานการณ์เฉพาะ และ (3) ทฤษฎีเป็นสิ่งที่ยังไม่ถาวร ย่อมมีพัฒนาการเกิดขึ้นเสมอ

คูเปอร์และชินด์เลอร์ (Cooper and Schindler, 2003) ให้นิยามทฤษฎีว่าเป็นชุดของความสัมพันธ์ที่เป็นระบบระหว่างมโนยทัศน์ นิยามและข้อเสนอที่เป็นการอธิบายและทำนายปรากฏการณ์ (ข้อเท็จจริง) ขั้นสูง

โดยสรุปสิ่งที่จะเรียกว่า “ทฤษฎี” ได้นั้น ต้องเป็นทฤษฎีในความหมายของข้อความนัยทั่วไปที่สร้างขึ้นมาจากความสัมพันธ์ของแนวคิด (Concepts) นิยาม (Definitions) และข้อเสนอ (Propositions) ที่สามารถใช้ในการอธิบาย (Explain) และทำนาย (Prodict) ปรากฎการณ์หรือกฎธรรมชาติซึ่งทดสอบจากวิธีสังเกตได้โดยตรง

2.2การสร้างทฤษฎีทฤษฎีที่สร้างขึ้นมาแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยังไม่ถาวร เพราะอาจมีการหักล้างหรือปรับใหม่ แต่ก็มีความสมเหตุสมผลด้วยข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) และด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) จะทำให้มีการพัฒนาทฤษฎีที่สมเหตุสมผล
ขั้นตอนในการสร้างทฤษฎีสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบแต่ผู้เขียนจะนำเสนอใน 2 ลักษณะ (Fawcett and Downs, 1986 อ้างถึงใน ศิริชัย กาญจนวาสี, 2537; ธีระ อาชวเมธี, 2521) คือ (1) ทฤษฎีแบบอธิบายและทำนายเชิงวิทยาศาสตร์ (Scienctific Explanation Prediction Theory) และ (2) ทฤษฎีเชิงประจักษ์ (Empirical Theory) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

(1)ทฤษฎีแบบอธิบายและทำนายเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Explanation-Prediction Theory)
การสร้างทฤษฎีด้วยวิธีการอธิบายและทำนายเชิงบวิทยาศาสตร์ด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ (Concept) ที่สร้างขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอ (Proposition) หรือหลักการ (Principle) และการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระว่างข้อเสนอจะนำไปสู่การสร้างทฤษฎี (Theory)

(2)ทฤษฎีแบบเชิงประจักษ์ (Empirical Theory)
การสร้างทฤษฎีแบบเชิงประจักษ์ เป็นสิ่งที่นักวิจัยสร้างขึ้นมาเองและสร้างขึ้นเพื่อ
1) อธิบายปรากฏการณ์หรือกฏธรรมชาติ
และ 2) ทำนายปรากฏการณ์หรือ
กฏธรรมชาติจากแบบแผนของทฤษฎีดังนี้

S [a1……..a] มักเป็นข้อความที่กล่าวถึงสิ่งหรือกระบวนการที่อยู่ซ่อนเร้น
S [b1………bm] ต้องเป็นข้อความที่กล่าวถึงสิ่งที่สังเกตได้โดยตรง

โดยที่ a กับ b แทนข้อความและ n กับ m มีค่าเท่าไหร่ก็ได้ตั้งแต่ 1 ขึ้นไป
และเครื่องหมาย ในแบบแผนแทนคำว่า “ผล” หรือ “Imply” หรือ “Implies”

ดังนั้น ทฤษฎีจึงเป็นแบบแผนได้ดังนี้
S [a1…..an] S [b1……bn]…………..(A)

สำหรับข้อความ [a1…..an ] ใน S [a1…..an ] เรียกว่า สัจพจน์ (Axioms) ของทฤษฎี-สิ่งที่เห็นจริงแล้วโดยทั่วกัน
หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption)
หรืออาจเรียกว่า หลักฐานยืนยัน (Postulates)

และข้อความ b1……bn ใน S [b1……bn ] จะเรียกว่า ทฤษฎีบทของทฤษฎี (Theorems)

ถ้าเราใช้ Postulate ซึ่งเป็นคำกลางที่สุด (ธีระ อาชวเมธี, 2521, หน้า 123) จะ ทำให้ได้แบบแผนใหม่ของทฤษฎีเป็นดังนี้

P1 ,P2……Pn Th 1 ,Th2 …..Thn ……(B)
โดยให้ P = Postulate และ Th = Theorem

ทฤษฎีที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์จะต้องสามารถใช้ในการทำนายปรากฏการณ์ หรือกฏธรรมชาติซึ่งทดสอบโดยวิธีสังเกตได้โดยตรง ซึ่งหมายความว่า

ทฤษฎีที่มีอำนาจมาก P1 ,P2……Pn จะ imply Th เป็นจำนวนมากมายแต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้วิจัยมักเสนอ Th เพียงไม่กี่ตัวโดยเสนอแต่ตัวที่สำคัญๆ

2.3การพัฒนาทฤษฎีด้านการจัดการ
การพัฒนาทฤษฎีด้านการจัดการให้เป็นศาสตร์นั้นต้องมีการสร้างองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาทฤษฎีและกฎเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

ทฤษฎีด้านการจัดการจึงควรมีลักษณะของความเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายของการอธิบายและทำนายความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างข้อเท็จจริง เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทางธุรกิจ

นิวแมน (Neuman, 2000 อ้างถึงใน Creswell, 2003) อธิบายความกว้างของทฤษฎีไว้ว่า ควรมีความกว้างและครอบคลุมใน 3 ระดับด้วยกันคือ ทฤษฎีระดับไมโคร (Micro-Level Theories) ซึ่งอธิบายได้จำกัดในส่วนเล็กของเวลา เทศะ (Space) หรือจำนวนของคน เช่น พฤติกรรมของพนักงานในแต่ละแผนกที่มีต่อผู้บังคับบัญชาใหม่ของบริษัท ก. ทฤษฎีระดับเมโส (Meso-Level Theories) เป็นทฤษฎีที่เชื่อมโยงระหว่างไมโครกับแมคโคร เช่น ทฤษฎีขององค์การ การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือชุมชน อาทิ ทฤษฎีการควบคุมภายในองค์การของคอลลิน และ ทฤษฎีระดับแมคโคร (Macro-Level Theories) อธิบายสิ่งที่ใหญ่หรือลักษณะรวม เช่น สถาบันทางสังคม ระบบวัฒนธรรมและสังคมโดยรวม ตัวอย่างของทฤษฎีระดับนี้คือ การอธิบายผลผลิตของสังคมส่วนเกินที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาจากการพัฒนาสังคม

ดังนั้น ทฤษฎีด้านการจัดการที่ดี ควรมีคุณลักษณะสำคัญ เช่น
(1)มีความเป็นสากลทั่วไป (Generality) คือ สามารถนำทฤษฎีด้านการจัดการไปประยุกต์ใช้ในเชิงรูปธรรมของเหตุการณ์เฉพาะต่างๆ ได้
(2)มีความเป็นปรนัย (Objectivity) คือ เป็นทฤษฎีด้านการจัดการที่มีความเป็นกลางไม่มีอคติส่วนตัวและสามารถตรวจสอบซ้ำได้ เช่น ทฤษฎีเอ็กซ์และทฤษฎีวาย
(3)มีความเชื่อถือได้สูง (Reliability) คือ สามารถนำทฤษฎีด้านการจัดการไปอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในธุรกิจ องค์กร หรือสภาพแวดล้อมของการทำงานต่างๆ ได้อย่างคงเส้นคงวา และควรสอดคล้องกับทฤษฎีหลักอื่นๆ
(4)มีโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systematic Structure) หมายถึง ทฤษฎีด้านการจัดการนั้นๆ มีองค์ประกอบหรือส่วนต่างๆ ของทฤษฎีที่สอดคล้องและรองรับกันทั้งในระดับการบรรยาย (Descriptive Level) ระดับการอธิบาย (Explanatory Level) และระดับการทำนาย (Predictive Level) ในเหตุการณ์ต่างๆ
(5)สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย (Comprehensiveness) หมาย-หมายความว่า ทฤษฎีด้านการจัดการนั้นๆ มีมโนทัศน์จำนวนไม่มากแต่เพียงพอที่จะใช้อธิบายและทำนาย หรือควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ

อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants


Create Date : 15 มิถุนายน 2549

วิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจ(1) โดย ดนัย เทียนพุฒ

บทคัดย่อ (Abstract)

การพัฒนาด้านความรู้ เครื่องมือใหม่และกลยุทธ์ใหม่ๆ ทางธุรกิจโดยเฉพาะข้อตกลงเบื้องต้นใหม่ด้านการจัดการของปีเตอร์ ดรักเกอร์ เป็นองค์ความรู้และทฤษฎีการจัดการจากนักวิชาการซีกโลกตะวันตกที่ธุรกิจและสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยมักหยิบมาใช้อย่างทันที
บทความเรื่องวิสัยทัศน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการธุรกิจได้เร่งเร้าและกระตุ้นอย่างเข้มข้น โดยอธิบายถึงการวิจัยสร้างความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ และการพัฒนาวิสัยทัศน์เพื่อการจัดการธุรกิจในทิศทางที่ควรจะเป็นสำหรับประเทศไทย ทั้งการนำความรู้มาถ่ายทอดโดยผ่านกระบวนการวิจัย การมุ่งผลิตความรู้เพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาธุรกิจ รวมถึงวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ




ชีวิตธุรกิจ ชีวิตคน คงหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกับการจัดการ (Management) ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดๆ เช่น การทำงาน การใช้ชีวิตส่วนตัว การใช้ชีวิตครอบครัว หรือการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง หรือการศึกษาของบุตร-หลานในครอบครัว เป็นต้น และเมื่อการจัดการได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนโดยเฉพาะในโลกธุรกิจและการทำงาน และในขณะที่ทุกท่านทำงานอยู่นั้นท่านก็จะได้พบกับสิ่งต่อไปนี้
1)ธุรกิจบางแห่งมีการจัดการที่ดีทำให้ธุรกิจเติบโต มีผลกำไรอย่างมากมาย
และเป็นธุรกิจที่ทุกคนอยากเข้ามาปฏิบัติงานหรือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของธุรกิจแห่งนี้
2)ผู้บริหารธุรกิจหรือผู้จัดการในแต่ละดับชั้นขององค์การหรือ แต่ละหน่วยงานจะมีทั้งผู้บริหารที่มีความสามารถในการจัดการที่สูงกับในทางตรงกันข้าม
3)การพัฒนาในองค์ความรู้ด้านการจัดการ จะมีการศึกษาและวิจัยทางการจัดการธุรกิจและเครื่องมือใหม่ๆ ทางการจัดการออกมาสู่โลกธุรกิจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ผู้บริหารธุรกิจหรือพนักงานจะทราบได้อย่างไรว่า องค์ความรู้และเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้มีความเหมาะสมที่จะนำเข้ามาใช้ในองค์การ หรือมีวิธีการใช้อย่างไรจึงจะสามารถดำเนินการจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้
4)ในทางปฏิบัติของด้านการจัดการ มีองค์การชั้นนำที่ได้นำแนวคิด ทฤษฎีหรือเครื่องมือใหม่ทางการจัดการเข้ามาใช้ เช่น การจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management หรือ TQM) การประเมินองค์การแบบสมดุล (The Balanced Scorecard : BSC) การจัดทำมาตรฐานเทียบวัด (Benchmarking) หรือการปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (Best Practices)
ซึ่งในทางปฏิบัติ จะมีหลายธุรกิจที่ได้มีการจัดทำและได้พัฒนาไประยะหนึ่งจนกระทั่งมีการปรับแนวคิด หลักการ หรือสร้างเป็นโมเดลใหม่ขึ้นมา จะถือว่าธุรกิจเหล่านี้ค้นพบทฤษฎีใหม่ทางการจัดการหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ความสำเร็จในการประยุกต์เครื่องมือใหม่ๆ ทางการจัดการ

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Drucker, (1999) ปรมาจารย์ด้านการจัดการ ได้ตั้งข้อตกลงเบื้องต้นใหม่ (The New Assumption) ของการจัดการในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถนำมาพิจารณาหรืออธิบาย การพัฒนาทฤษฎีหรือการวิจัยด้านการจัดการธุรกิจ โดยข้อตกลงเบื้องต้นของปีเตอร์ ดรักเกอร์ สรุปไว้ว่า
(1)การจัดการเป็นองคาพยพของความเฉพาะและความแตกต่างของทุกๆ สิ่งในองค์การ
(2)องค์การควรจะจัดให้เหมาะสมกับงาน
(3)ไม่ใช่การจัดการคนแต่เป็นการนำคนและเป้าหมายคือ การใช้จุดแข็งที่เฉพาะและความรู้ของแต่ละบุคคลสร้างให้เกิดผลผลิต
(4)พื้นฐานของการจัดการเดิมมีสมมติฐานที่เทคโนโลยีและนโยบายการจัดการ (Management Policy) พื้นฐานใหม่ที่แท้จริงต้องอยู่บนคุณค่าของลูกค้า (Customer Value) และการตัดสินใจของลูกค้า (Customer Decisions) ภายใต้การจัดสรรรายได้ของตนเอง
ดังนั้นการจัดการนโยบายและกลยุทธ์ต้องก้าวเข้าไปเริ่มต้นในพื้นฐานใหม่นี้
(5)ข้อตกลงเบื้องต้นใหม่ของการจัดการ ทั้งด้านวินัยและการปฏิบัติกำลังเพิ่มขึ้นในพื้นฐานของการจัดการที่ไม่ใช่ขอบเขตของการจัดการด้านกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติการที่กระบวนการเพื่อมุ่งผลลัพธ์และผลงานโดยตลอดทั้งโซ่เศรษฐกิจ (Economic Chain)
(6)การปฏิบัติด้านการจัดการ ไม่ใช่วิธีการสำหรับธุรกิจเท่านั้น แต่กำลังเพิ่มขึ้นในนิยามด้านการปฏิบัติการที่เข้าสู่ขอบเขตระดับประเทศมากกว่าในระดับการเมือง
(7)การจัดการมีอยู่เพื่อประโยชน์ในผลลัพธ์ของสถาบัน ซึ่งจะเริ่มต้นจากการกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการและจัดการทรัพยากรของสถาบันเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์
การจัดการจึงเป็นองคาพยพที่ทำให้มีสถาบันธุรกิจ โบสถ์ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ฯลฯ รวมถึงความสามารถในการสร้างผลลัพธ์ภายนอกจากตนเอง

การจัดการจึงสรุปได้ว่าเป็นความสนใจและเป็นความรับผิดชอบในทุกๆ สิ่งที่มีผลต่อผลงานของสถาบันและผลลัพธ์ที่มีทั้งภายในหรือภายนอก ภายใต้การควบคุมของสถาบันหรือที่เหนือกว่าบนบริบทที่เปลี่ยนแปลงของธุรกิจในศตวรรษที่ 21 และภายใต้ข้อตกลงเบื้องต้นใหม่ของการจัดการตามที่ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เสนอออกมา ธุรกิจชั้นนำในเมืองไทย ผู้บริหารระดับสูง หรือสถาบันการศึกษาด้านการจัดการธุรกิจ จะมีเครื่องมือหรือใช้วิธีการอะไรในการตรวจสอบหรือพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจฯ จากซีกโลกตะวันตก หรือแม้กระทั่งพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างทฤษฎีใหม่ทางการจัดการธุรกิจที่เป็นของธุรกิจหรือประเทศไทยขึ้นมาใช้ได้ด้วยตนเอง

ฉะนั้นการมีวิสัยทัศน์ทางการวิจัยด้านการจัดการธุรกิจในประเทศไทย ทั้งธุรกิจชั้นนำ ผู้บริหารระดับสูง สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการธุรกิจ จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในการพัฒนาทั้งองค์ความรู้ใหม่ด้านการจัดการธุรกิจ การนำเครื่องมือหรือกลยุทธ์ใหม่เข้าไปตรวจสอบกับสภาพจริงของธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก จนกระทั่งเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ-ชาติได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
Create Date : 15 มิถุนายน 2549

Dissertation Topic-1st

ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด
A Strategic Intellectual Capital Model for Thai Enterprises
: A Study of Construction Accessories Co., Ltd.




โดย


นาย ดนัย เทียนพุฒ
รหัสนักศึกษา d47907903026
หลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจรุ่นที่ 2 กลุ่ม 2
ปีการศึกษา 2547
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
Create Date : 10 มกราคม 2549
************************************************
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

เศรษฐกิจแห่งความรู้ (Knowledge Based Economy) เป็นเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้ (Knowledge) และเทคโนโลยี (Technology) เป็นพลังขับเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีพลังอำนาจมากกว่าทรัพยากรใดๆ ในระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความได้เปรียบจากความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) (Stewart, 1997) ขณะเดียวกัน ทอลแมนและคณะ (Tallman and Others, 2004) ได้สรุปถึงมุมมองของความได้เปรียบในการแข่งขันที่เน้นทรัพยากรความรู้ว่า การสร้างคุณค่าทุนทางปัญญา (Intellectual Capital Value Creation) จะมีหัวใจหลักที่กำหนดระดับผลลัพธ์ของธุรกิจ เช่น การยอมรับในความสำคัญของความซับซ้อน (Recognition of the Importance of Complex) การมุ่งมั่นของธุรกิจ (Firm Commitment) ความรู้โดยปริยายและทรัพยากรความรู้ที่เฉพาะของธุรกิจ (Embeded Tacit and Firm Specific Knowledge Resources) สมรรถภาพและความสามารถ (Capabilities and Competencies) ที่จะทำให้เป็นความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (World Competitiveness) 
ปัจจุบันสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) หรือทุนทางปัญญา (Edvinsson and Malone, 1997) เป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับเศรษฐกิจแห่งความรู้ (Teece, 2000) ซึ่งจะเห็นว่าทุนทางปัญญาหรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มีมูลค่าต่อธุรกิจสูงมาก หากพิจารณาเปรียบเทียบโดยดูได้จากมูลค่าตลาด (Market Value)
สวีบาย (1997) ได้วิเคราะห์และสรุปผลสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้กับมูลค่าตลาด ของบริษัทในปี 1995 ไว้ว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (High Technologies) เช่น ไมโครซอฟท์ อินเทล จีเนนเทค และธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดต่ำ ขณะที่ธุรกิจสื่อ เช่น รอยเตอร์ ธุรกิจจัดการความสูญเสีย เช่น เคนโทกิล ธุรกิจด้านคอนซูเมอร์ เช่น โคคา-โคลา, ยูนิลีเวอร์ ฮิวโก-บอสส์, อาร์นอทส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดสูง ส่วนธุรกิจเวชภัณฑ์ยา เช่น แอสตรา แกล็คโซสมิทช์ไคน์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้สูงมากกว่าธุรกิจด้านบริการ เช่น วอลมาร์ท แมคโดนัลด์ ธนาคารและบริการทางการเงิน เช่น ซิตี้คอร์ป เอเม็ก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ทรัพยากรพลังงาน มีมูลค่าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ใกล้กับมูลค่าตลาด และโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์มีสัดส่วนที่ต่ำในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาด
ในการกำหนดองค์ประกอบของทุนทางปัญญาโดยเฉพาะที่ เอ็ดวินส์สิน (1997) บุกเบิกขึ้นให้ กับสแกนเดีย เอเอฟเอส (Skandia AFS) ในปี 2537 ซึ่งเรียกว่า สแกนเดีย เนวิเกเตอร์ (Skandia Navigator) ถือเป็นตัวแบบทั่วไป (General Model) ซึ่งเป็นตัวแบบที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรกและมักจะนิยมอ้างถึงโดยประกอบด้วยองค์ประกอบของ ขอบเขตลูกค้า (Client Scope) ขอบเขตการเงิน (Financial Scope) ขอบเขตด้านคน (Human Scope) ขอบเขตกระบวนการ (Process Scope) และขอบเขตการปรับใหม่ (Renewal Scope) ส่วนตัวแบบที่พัฒนาต่อมาเป็น ตัวแบบเชิงสัมพันธ์ (Related Model) เป็นลักษณะทั้งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ตัวแบบของบริษัทดาวเคมีคอล (Dow Chemical Model, 1994) จะมีองค์ประกอบของทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนองค์กร (Organizational Capital) และทุนลูกค้า (Client Capital)
ซัลลิแวน (1995) สจ๊วต (1997) รูส์ (1998) และอีกหลายๆ ท่านสรุปว่า มีการอธิบายและการนำไปใช้ของแต่ละประเทศ ที่แตกต่างกันในองค์ประกอบของทุนทางปัญญา พาบลอส (2004) มีการศึกษาในช่วงปี 2537-2546 จาก 20 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมัน อินเดีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร พบว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจในการพัฒนาบรรทัดฐานที่จะให้ได้สารสนเทศที่เป็นแนวทางในการจัดการ และการวัดทุนทางปัญญา โดยสารสนเทศนี้ต้องมีความเป็นเอกพันธ์ (Homogeneous) และเปรียบเทียบกันได้ (Comparable) 
แต่ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมแบบไทย ไพบูลย์ ช่างเรียน (2532) อธิบายวัฒนธรรมกับการบริหารของไทยว่ามีลักษณะเฉพาะได้แก่ การยึดถือตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นการรวมกันอยู่โดยไม่มีผลประโยชน์ที่กำหนดไว้แน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่การบริหารได้ขยายตัวสลับซับซ้อนมากขึ้น แต่การรวมกลุ่มกันในรูปแบบเป็นการเฉพาะบุคคล แบบระบบวงศาคณาญาติ หรือตามลักษณะโครงสร้างของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองแบบเดิมก็ยังมีอิทธิพลอยู่
โครงสร้างการบริหารของไทยจึงมีลักษณะของการยึดตัวบุคคลเป็นหลัก ในขณะเดียว
กันก็มีลักษณะของการรวมอำนาจเข้าหาตัวบุคคลอีกด้วย ดังนั้นเทคนิคหรือหลักเกณฑ์การบริหารต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาในวัฒนธรรมหนึ่งหรือสังคมหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมกับอีกสังคมหนึ่งก็ได้ หรือเมื่อนำหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ มาใช้แล้ว ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ทั่วไปในสังคม
ตัวแบบทุนทางปัญญาที่ผู้วิจัยได้ศึกษาทั้งตัวแบบทั่วไปและตัวแบบเชิงสัมพันธ์ รวม-ถึงการวิจัยในหลายๆ ประเทศ พบว่ามีองค์ประกอบอยู่หลายๆ องค์ประกอบ และยังรวมถึงองค์ประกอบ เช่น การวิจัยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา ทุนมนุษย์ โครงสร้างองค์กร วิธีการทำงาน การตลาด แบรนด์ ลูกค้า และเครือข่ายซัพพลายเออร์ รวมทั้งซอฟท์แวร์ (Stewart, 2001; Sullivan, 2000; Edvinsson, 2002; Bontis, 1996) จึงทำให้มีความสับสน ยุ่งยากในการนิยาม การจัดการ และการเก็บสารสนเทศที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก การวัดมูลค่าซึ่งเป็นการคำนวณทางการเงินหรือทางบัญชี การรายงานจึงผิดพลาดและไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ
ตัวแบบทุนทางปัญญาของนักคิดทางตะวันตก เมื่อจะนำมาปรับใช้ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีความเฉพาะของวัฒนธรรมการบริหารแบบองค์กรธุรกิจไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ขององค์ประกอบทุนทางปัญญาที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมบริหารของธุรกิจไทย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเป็นไปได้ในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ ผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาโดยศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างจำกัด ซึ่งเป็นลักษณะศึกษาเชิงประจักษ์เพื่อวิจัยปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่เป็นบริบทของสภาพธุรกิจที่แท้จริง (Yin, 1994)

คำถามในการวิจัย

1. ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาจะมีตัวแบบเป็นอย่างไรจึงจะนำไปสู่การปฏิบัติของบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด จนประสบความสำเร็จ 
2. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors : KSFs) หรือความสามารถ (Competence) อะไรที่จะมีในองค์ประกอบของตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด 
3. ดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จในปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถ อะไรที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับ บริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด 

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. สร้างและพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่จะใช้อธิบายความได้เปรียบในยุทธศาสตร์การแข่งขันที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริหารของธุรกิจไทย
2. พัฒนาปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถที่เป็นองค์ประกอบหลักในตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาโดยมีดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จที่ครอบคลุมเพียงพอ
3. กำหนดวิธีการนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาที่สร้างและพัฒนาขึ้นไปสู่การปฏิบัติจนกระทั่งพัฒนาธุรกิจไทยให้เป็นองค์กรแห่งความรู้ (Knowledge Organization)

ประโยชน์ของการศึกษา

1. เป็นการพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของธุรกิจไทยในบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด ให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 
2. ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ทุนทางปัญญานี้จะมีองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแห่งความ-สำเร็จ หรือความสามารถพร้อมดัชนีวัดความสำเร็จที่จะช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนความได้เปรียบในการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด
3. สามารถนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาไปพัฒนาต่อยอดความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อธุรกิจไทยที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การก้าวเป็นองค์กรแห่งความรู้ 
4. ผู้ที่ศึกษาและนักปฏิบัติด้านการบริหารทุนมนุษย์หรือบริหารทรัพยากรบุคคล สามารถนำตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและสร้างความชัดเจนในองค์การเกี่ยวกับองค์ความรู้ในด้านทุนทางปัญญา

อ้างอิง

ดนัย เทียนพุฒ (2546) ความสามารถปัจจัยชนะของธุรกิจและคน กรุงเทพ: โครงการ HUMAN      
                         CAPITAL บริษัท ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด

นิทัศน์ วิเทศ (2542) การจัดการความรู้ แปลและเรียบเรียงจาก Working Knowledge : How Organi-
                        zations Manage What They Know ของโทมัส เอช ดาเวนพอร์ท และลอเรนซ์ พรู 
                        แซค กรุงเทพ: บริษัท เออาร์ บิซิเนส เพรส จำกัด 

Ahmed, Pervaiz K, Kok, Lim Kwang and Loh, Ann Y E. (2002) Learning Through Knowledge   
                       Management. Butterworth-Heinemann : MA.

Awad, Elias, M. and Ghaziri, Hassan, M. (2004) Knowledge Management. New Jersey : 
                       Pearson Education, Inc.

Barnes, Stuart. (2002) Knowledge Management Systems. Oxford : Thomson Learning

Bell, House (2001). Measuring and Managing Knowledge Singapore : McGraw-Hill Book Co.

Bergeron, Bryan (2003). Essentials of Knowledge Management. New Jersey : John Wiley &  
                       Sons, Inc.

Chong and Others (2000). “Where does Knowledge Management add value?” Journal
                       of Intellectual Capital Vol.1 No.4 P.366-380

Despres, Charles and Chauvel, Daniele. (2000) Knowledge Horizons. MA :
                       Butterworth-Heinemann 

Gorelick, Carol, Milton, Nick and April, Kurt. (2004) Performance Through Learning. 
                       MA: Elsevier Butterworth-Heinemann.

Groff, Todd R. and Jones, Thomas P. (2003). Introduction to Knowledge Management. 
                      Thailand : Butterworth-Heinemaan.

Laszlo, Kathia, Castro and Laszlo, Alexander. (2002). “Evolving Knowledge for Development            
                      : The role of knowledge management in a changing world” Journal of  
                      Knowledge Management Vol.6 No.4 2002 P.400-412

Liebowitz, Jay (2001) Knowledge Management : Florida. CRC Press LLC 

Mayo, Andrew. (2001) The Human Value of the Enterprise. London: Nicholas Brealey   
                      Publishing.

Morey, Dary, Maybury, Mark and Thuraisingham, Bhavani. (2000). Knowledge Management.  
                     London : The MIT Press.

Mertins,Kai, Heisiz, Peter and Vorbeck, Jens. (2003) Knowledge Management : Berlin 
                    Springer-Verlag .

Natarazan Ganesh, and Shekhar Sandhya, (2000). Knowledge Management New Delhi: Tata   
                    McGraw-Hill Publishing Company Limited.

Nonaka, Ikujiro and Takeuchi, Hirotaka. (1995). The Knowledge-Creating Company. New  
                   York : Oxford University Press, Inc.

Parlby, David (1999). Knowledge Management Research Report 2000. UK :KPMG Consulting. 
                   School, Wolfgand and Others. (2004) “The Future of Knowledge Management :  
                   an International Delphi study.” Journal of Knowledge Management Vol.8 No.2  
                   P.19-35

Takeuchi, Hirotaka, and Nonaka Ikujiro,(2004). Hitotsubashi on Knowledge Management 
                   Singapore: John Wiley & Sons (Asia) Pte. Ltd.

Tiwana, Amrit (2001). The Essential Guide to Knowledge Management. NJ: Prentice Hall 
                   PTR.

Wiig, Karl. M. (1999). “Successful Knowledge Management : Does it Exist?” The European  
                  American Business Journal.

Yin, R.K. (1994). Case Study Research: Design and Methods (2nd ed.) Thousand Oaks, CA : 
                  Sage.
(หน้า Blog ไม่ยอมให้จัดเป็นไปตามหลักเกณฑ์)